EN/TH
EN/TH
กลุ่มอนาคตศึกษา>พ- คนเมือง 4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย โครงการย่อยที่ 5 - การซื้อของในเมือง-พรสรร วิเชียรประดิษฐ์
พ- คนเมือง 4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย โครงการย่อยที่ 5 - การซื้อของในเมือง-พรสรร วิเชียรประดิษฐ์
ผู้วิจัย : พรสรร วิเชียรประดิษฐ์   โพสต์ เมื่อ 13 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 224 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 35 ครั้ง

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาอนาคตของการซื้อของในเมืองจากการคาดการณ์อนาคต โดยขอบเขตของงานวิจัยเน้นการศึกษาเกี่ยวกับการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจําวัน (Grocery Shopping) โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นความต้องการพื้นฐาน เช่น อาหาร ของใช้ในชีวิตประจําวัน เท่านั้น เนื่องจากการตัดสินใจส่วนใหญ่จะถูกกรอบด้วยกรอบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค โดยจะไม่ครอบคลุมถึงสินค้าฟุ่มเฟือย

จากการกวาดสัญญาณตามกรอบ STEEP(V) และการสร้างแผนผังระบบพลวัต (system dynamics map) พบประเด็นที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อของใช้ในชีวิตประจําวันของคนเมืองในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก คือ การแพร่หลายของร้านสะดวกซื้อ และการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ การเปลี่ยนแปลงทั้งสองประการนี้เกี่ยวพันโดยตรงกับแนวโน้มในด้านอื่น ๆ ทั้งด้านโครงสร้างประชากรและรูปแบบครัวเรือนรูปแบบการอยู่อาศัย รูปแบบการทํางาน รูปแบบการใช้ชีวิต และรูปแบบการเดินทาง โดยผู้วิจัยได้สรุปแนวโน้มปัจจุบันของการซื้ออุปโภคบริโภคของคนเมืองในมหานครกรุงเทพได้เป็น 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ใคร ๆ ก็ไปเซเว่น 2) บริการช่วยซื้อคือตัวช่วยของคนเมือง 3) ทางออกอยู่ที่ออนไลน์และ 4) รถพุ่มพวงคือเทวดามาโปรด

จากนั้นจึงพัฒนาภาพอนาคตฐานจากแนวโน้มปัจจุบัน และได้นําปัจจัยการขับเคลื่อนสําคัญ 2 ปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูงและจะสร้างผลกระทบสูง คือ รูปแบบการพัฒนาเมือง และ ความหลากหลายของสินค้าในตลาด มาใช้สร้างฉากทัศน์ทั้งหมด 4 ฉาก ได้แก่ 1) ย่านการค้ายกเครื่อง 2) ตลาดนัดต่างระดับ 3) เคอรี่ที่รอคอย และ 4) เซเว่นยืนหนึ่ง จากการประเมินฉากทัศน์ในมิติของความเสมอภาค ความยั่งยืน และประสิทธิภาพรวมถึงจากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ พบว่าภาพอนาคตพึงประสงค์ที่สุดจากทั้ง 4 ฉาก คือ ฉากทัศน์ที่ 1 ย่านการค้ายกเครื่อง ซึ่งมีสินค้าในระบบที่หลากหลาย ย่านกลางค้ากลางเมืองได้รับการฟื้นฟูเนื่องจากผู้คนอาศัยอยู่ภายในเมืองอย่างหนาแน่นในอาคารสูง มีการจ้างงานจํานวนมากในภาคบริการ มีการอํานวยความสะดวกต่างๆ ความต้องการของลูกค้า ร้านค้าไฮเทครวมถึงร้านค้าต่าง ๆ มีบริการจัดส่งสินค้าจากย่านการค้าสู่ที่พักด้วยการใช้แรงงานคนและยานพาหนะไม่ใช่เครื่องยนต์ และจะเกิดอุปกรณ์เพื่ออํานวยความสะดวกสําหรับการซื้อของ เช่น โดรนขนของอัตโนมัติ ซึ่งสามารถพามาช่วยจับจ่ายใช้สอยแทนมนุษย์ได้

จากภาพอนาคตฐานและอนาคตพึงประสงค์ผู้วิจัยได้นําเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเป็น 1) ยุทธศาสตร์เพื่อรับมือการซื้อของในอนาคตฐาน 3 ข้อ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยุทธศาสตร์การบริหารจัดการตลาด และยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และ 2) ยุทธศาสตร์เพื่อดําเนินการสร้างการซื้อของในอนาคตพึงประสงค์5 ข้อ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ด้านการผลิตสินค้า ยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งสินค้าและการบริการ ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและฟื้นฟูเมือง ยุทธศาสตร์ด้านแรงงาน และยุทธศาสตร์ด้านข้อมูลสารสนเทศ