EN/TH
EN/TH
กลุ่มขับเคลื่อน>ส- โครงการการส่งเสริมการจัดการเชียงใหม่เมืองยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม-สุวารี วงค์กองแก้ว และคณะ
ส- โครงการการส่งเสริมการจัดการเชียงใหม่เมืองยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม-สุวารี วงค์กองแก้ว และคณะ
ผู้วิจัย : คุณสุวารี วงค์กองแก้ว และคณะ   โพสต์ เมื่อ 13 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 146 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 9 ครั้ง

เชียงใหม่เป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนในภูมิภาคภาคเหนือของไทยมานานกว่า 4 ทศวรรษ มีกระบวนการทำงานที่เริ่มต้นจากงานชนบทในประเด็นของความยากจน  ความด้อยโอกาส  การเข้าไม่ถึงทรัพยากรพื้นฐาน  และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ขบวนการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนจากยุคแรกได้บ่มเพาะคนจำนวนมากให้เข้าสู่แนวร่วมการทำงานเพื่อประชาชน  ในเวลาต่อมาจึงมีคนที่สนใจทำงานด้านเมืองและขยายฐานการทำงานเมืองจนกลายเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสูงในเวลาต่อมา

ในหลายทศวรรษที่ผ่านมาบริบทสังคมเปลี่ยนไป  การทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนก็ค่อย ๆ ขยับเปลี่ยนจากการขยายตัวของงานภาคชนบท จากการต่อสู้กับความยากจนและโอกาสการเข้าถึงทรัพยากร ได้พัฒนาประเด็นชัดเจนในประเด็นเรื่องสิทธิ ที่ดิน และป่าไม้ ในส่วนภาคเมืองได้ขยายบทบาทและการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว งานของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มประชาสังคมเหล่านี้ได้ส่งผลต่องานในระดับนโยบายรวมทั้งกำหนดทิศทางของเมืองเชียงใหม่ได้มาก เมื่อพิจารณาจากการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือที่ขับเคลื่อนเรื่องการออกพระราชบัญญัติป่าชุมชนเพื่อให้ประชาชนได้มีสิทธิในการจัดการป่าไม้ของชุมชนเอง โดยใช้เวลาในการขับเคลื่อนมากกว่า 30  ปี จนในที่สุดจึงได้มี พ.ร.บ. ป่าชุมชนขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2562 และเป็นการจัดรูปโครงสร้างการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ใช้กับทุกพื้นที่ในประเทศไทยไม่ใช่เพียงเฉพาะพื้นที่เชียงใหม่เท่านั้น

ปี พ.ศ. 2528 เนื่องจากการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ กระแสการพัฒนาได้หลั่งไหลเข้าสู่เมืองเชียงใหม่  โครงการด้านการท่องเที่ยวของภาครัฐได้เพิ่มจำนวนขึ้น ในจำนวนนั้นมีโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นดอยสุเทพเป็นเหตุให้นำไปสู่การตื่นตัวขึ้นของภาคพลเมืองซึ่งไม่เห็นด้วยกับโครงการ จนเกิดการรวมตัวกันเพื่อการประท้วงเพื่อต่อต้านการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยสุเทพโดยประกอบด้วยนักวิชาการ พระสงฆ์ ประชาสังคม และประชาชนชาวเชียงใหม่  การรวมตัวกันได้พัฒนาไปเป็นกลุ่มประชาสังคมในนาม “ชมรมเพื่อเชียงใหม่” เพื่อเรียกร้องให้เกิดการทบทวนโครงการพัฒนาซึ่งจะส่งผลกระทบในมิติของสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมความเชื่อของคนเชียงใหม่ที่มีต่อดอยสุเทพ  ในระยะเวลาไล่เลี่ยกันได้เริ่มมีการสร้างคอนโดมิเนียมหรืออาคารสูงในเมืองเชียงใหม่  ชมรมเพื่อเชียงใหม่จึงมีบทบาทในการเป็นแกนนำเพื่อออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยและการต่อต้านคัดค้านการสร้างอาคารสูงในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่เรียกร้องให้มีการควบคุมการก่อสร้างอาคารสูงโดยการกำหนดโซนให้และห้ามก่อสร้างอาคารสูงให้ชัดเจน  การเคลื่อนไหวครั้งนั้นได้ส่งผลทำให้หน่วยงานภาครัฐทั้งในระดับท้องถิ่น จังหวัด  และส่วนกลางได้เกิดการขยับตัว ทำการออกกฎกระทรวงเพื่อควบคุมการก่อสร้างอาคารสูง และเทศบาลนครเชียงใหม่ก็ได้มีการออกกฎหมายลูกคือ เทศบัญญัติเพื่อควบคุมการก่อสร้างอาคารในเขตพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่  นับเป็นเทศบัญญัติฉบับแรกของไทยที่ระบุแนวทางการควบคุมการก่อสร้างในพื้นที่เฉพาะที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เช่นนี้  ในเวลาต่อมาเทศบัญญัติฉบับนี้ได้ถูกพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นเป็นต้นแบบให้ท้องถิ่นอื่น ๆ ได้เรียนรู้และใช้เป็นแนวทางดำเนินการในแบบเดียวกัน  ประเด็นต่าง ๆ นี้ ได้สะท้อนให้เห็นว่าการขับเคลื่อนงานขององค์กรพัฒนาเอกชน ประชาสังคม และภาคประชาชนนั้นสามารถส่งผลต่อการสร้างนโยบายหรือการระงับนโยบายและส่งผลต่อการจัดรูปเมืองและสังคมได้  ที่สำคัญคือได้ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในพลังการแสดงออกของประชาสังคมและทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ก่อรูปตนเองขึ้นภายใต้สิ่งแวดล้อมนี้

อย่างไรก็ตามเมื่อสภาพแวดล้อมของสังคมเปลี่ยนไป พัฒนาการขององค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มประชาสังคมของเชียงใหม่ก็มีการปรับตัว มีองค์กรที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ตามประเด็นปัญหาของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน  กลุ่มประชาสังคมและองค์กรเหล่านี้มีรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากเดิม  มีความหลากหลายและมีจำนวนมากมาย  มีความเป็นอิสระที่รวมกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องเดียวกันเพื่อทำงานตามความสนใจของกลุ่มตนเอง ที่สำคัญคือยังคงมีนัยสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ทั้งในรูปแบบกิจกรรม และยกระดับไปถึงนโยบาย

การเปลี่ยนผ่านจากยุคองค์กรพัฒนาเอกชนในสมัยก่อนจนมาถึงการทำงานของคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยในลักษณะกลุ่มประชาสังคมที่ทำงานอย่างอิสระและทำงานตามความสนใจ  มีการสานพลังเป็นเครือข่ายเมื่อมีประเด็นร่วมกัน  สามารถเชื่อมโยงให้เห็นภาพการเคลื่อนตัวจากประสบการณ์และประวัติศาสตร์การขับเคลื่อนขององค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อสนับสนุนต่อการยกระดับความเข้มแข็งของประชาสังคมใหม่ในปัจจุบัน