EN/TH
EN/TH
เอกสารวิจัย>ส- โครงการพัฒนาตัวชี้วัดคุณธรรมเพื่อขับเคลื่อนสู่สังคมคุณธรรม-สุริยเดว ทรีปาตีและคณะ
ส- โครงการพัฒนาตัวชี้วัดคุณธรรมเพื่อขับเคลื่อนสู่สังคมคุณธรรม-สุริยเดว ทรีปาตีและคณะ
ผู้วิจัย : รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตีและคณะ   โพสต์ เมื่อ 13 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 171 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 15 ครั้ง

โครงการพัฒนาตัวชี้วัดคุณธรรมเพื่อขับเคลื่อนสู่สังคมคุณธรรมมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและพัฒนาตัวชี้วัดเชิงปรับฐานความเข้าใจด้านคุณธรรมระดับบุคคลใน 5 ด้าน คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะและรับผิดชอบ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสม นำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจออนไลน์ การทบทวนวรรณกรรม และการจัดกระบวนการกลุ่มกับกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป ในจังหวัดนำร่องขับเคลื่อนสมัชชาคุณธรรมใน 4 ภาค คือ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี ภาคกลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาสังเคราะห์หาองค์ประกอบของคุณธรรมทั้ง 5 ด้าน จากนั้นนำมาพัฒนาแบบประเมินการรับรู้ด้านคุณธรรม เป็นข้อคำถามเชิงสถานการณ์และตัวเลือกตามทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์ก และตรวจสอบคุณภาพของแบบประเมินโดยการตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาด้วยการวิเคราะห์ค่าดัชนีความสอดคล้องภายใน และตรวจสอบความเชื่อมั่นด้วยค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค

ผลการวิจัยพบว่า 1) คุณธรรมด้านพอเพียง มี 3 องค์ประกอบ คือ มีภูมิคุ้มกัน มีเหตุผล และมีความพอประมาณ คุณธรรมด้านวินัย มี 3 องค์ประกอบ คือ การตรงต่อเวลา การเคารพกฎระเบียบและกฎหมาย และการควบคุมตนเอง คุณธรรมด้านสุจริต มี 2 องค์ประกอบ คือ การไม่เอารัดเอาเปรียบ และการยืนหยัดในความถูกต้อง คุณธรรมด้านจิตสาธารณะ มี 3 องค์ประกอบ คือ มีจิตอาสา มีจิตสำนึกสาธารณะ และการเสียสละเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น และคุณธรรมด้านรับผิดชอบ มี 3 องค์ประกอบ คือการตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตน การยอมรับผลการกระท าของตนเอง และการดูแลบุคคลที่อยู่ภายใต้อาณัติหรือบุคคลภายใต้การดูแล 2) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการรับรู้คุณธรรมทั้ง 5 ด้าน ในระดับขั้นที่ 5 ตามทฤษฎีของโคลเบิร์ก 3) แบบประเมินมีความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา โดยมีค่าดัชนีความสอดคล้องภายในมากกว่า 0.5 และมีความเชื่อมั่น โดยมีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาคทั้งฉบับอยู่ที่ 0.7

ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการวิจัยครั้งนี้ คือ ตัวชี้วัดเชิงปรับฐานความเข้าใจด้านคุณธรรมระดับบุคคลที่พัฒนาจากกระบวนการมีส่วนร่วมใน 5 ด้าน คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะ และรับผิดชอบที่จะนำไปพัฒนาเป็นเครื่องมือติดตามสถานการณ์คุณธรรมในสังคมไทยต่อไป