EN/TH
EN/TH
กลุ่มนโยบายสาธารณะและกฎหมาย>ส- การศึกษาเงื่อนไขของพื้นที่-โสภณ ชมชาญ และปานพิมพ์ นพรัตน์ศุภสิน
ส- การศึกษาเงื่อนไขของพื้นที่-โสภณ ชมชาญ และปานพิมพ์ นพรัตน์ศุภสิน
ผู้วิจัย : โสภณ ชมชาญ และปานพิมพ์ นพรัตน์ศุภสิน   โพสต์ เมื่อ 13 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 134 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 4 ครั้ง

ศักยภาพของที่ดินเพื่อการเกษตรของจังหวัดน่านซึ่งมีเนื้อที่ 7,170,045 ไร่ นั้น เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มีความลาดชันมากกว่า 35% จํานวนมากถึง 6,013,302 ไร่ หรือร้อยละ 83.87 ของเนื้อที่จังหวัด มีที่ราบเพียง 1,156,743 ไร่หรือร้อยละ 16.13 เมื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมของดินเพื่อการเกษตรแล้ว ดินในจังหวัดน่าน มีความเหมาะสมปานกลางถึงสูง จํานวน 425,752 ไร่ หรือร้อยละ 5.95 ไม่ค่อยจะเหมาะสมจํานวน 372,396 ไร่ หรือร้อยละ 5.19 เท่านั้น ด้วยข้อจํากัดดังกล่าวนี้ การพัฒนาการเกษตรในจังหวัดน่านจึงต้องดําเนินการปลูกพืชที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ และภูมิอากาศ โดยมีการจัดการดินและน้ําที่เป็นระบบ ทั้งเพื่อให้เป็นการใช้ที่ดินที่ยั่งยืนและมีความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งมีผลผลิตทางการเกษตรที่มีตลาดรับซื้อ

กรณีของตําบลเมืองจัง อําเภอภูเพียง จังหวัดน่านนั้น เป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงกว่า 35% จํานวน 21,503 ไร่ หรือร้อยละ 39.80 ซึ่งควรเป็นพื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่ที่มีความชันต่ํากว่า 35% จํานวน 32,527 ไร่หรือร้อยละ 60.2 เมื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมของดินเพื่อการเกษตรแล้ว ตําบลเมืองจัง มีดินตื้นประมาณ 6,880 ไร่ หรือร้อยละ 12.73 นอกจากนั้นเป็นดินลึกแนะนําให้ปลูกพืชผัก ข้าว บริเวณที่ราบริมแม่น้ําน่าน พื้นที่ส่วนอื่นๆ แนะนําให้ปลูกข้าวไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไผ่ และหญ้าเลี้ยงสัตว์ โดยมีการจัดการดินและน้ําให้เป็นระบบคือการอนุรักษ์ดินและน้ําเพื่อป้องกันความเสื่อมโทรมของดิน

ส่วนตําบลนาไร่หลวง อําเภอสองแคว จังหวัดน่าน นั้นเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงกว่า 35% จํานวน 65,644 ไร่ หรือร้อยละ55.98 ซึ่งควรจะเป็นพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ที่มีความลาดชันต่ํากว่า 35% มีจํานวน 51,640 ไร่หรือร้อยละ 44.02 พื้นที่ส่วนนี้ส่วนใหญ่เป็นดินลึกมีความเหมาะสมปานกลางต่อการเกษตร พืชที่แนะนําให้ปลูกคือ พืชผัก ข้าวไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไผ่ และหญ้าเลี้ยงสัตว์ ภายใต้ระบบการอนุรักษ์ดินและน้ํา