EN/TH
EN/TH
กลุ่มอนาคตศึกษา>อ- คนเมือง 4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย โครงการย่อยที่ 1 - การเกิดในเมือง-อภิวัฒน์ รัตนวราหะ
อ- คนเมือง 4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย โครงการย่อยที่ 1 - การเกิดในเมือง-อภิวัฒน์ รัตนวราหะ
ผู้วิจัย : รศ.ดร. อภิวัฒน์ รัตนวราหะ   โพสต์ เมื่อ 13 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 152 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 9 ครั้ง

หัวหน้าโครงการ: รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ
สังกัด: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มการศึกษา: อนาคตศึกษา
ระยะเวลาดำเนินงาน: 12 เดือน (เม.ย. 2562 – เม.ย. 2563)
ปีที่ดำเนินโครงการภายใต้แผนงานฯ: ปีที่ 1

บทคัดย่อ

โครงการวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อคาดการณ์ทางเลือกของภาพอนาคตของการเกิดในเมืองอีก 20 ปีข้างหน้า โดยเน้นการเจริญพันธุ์และการตัดสินใจมีบุตรของคนเมือง

จากการกวาดสัญญานแนวโน้มและปัจจัยที่ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านนี้พบว่า ปัจจัยขับเคลื่อนด้านการเกิดและการเจริญพันธุ์โดยปัจจัยขับเคลื่อนที่ส่งผลต่อแนวโน้มสําคัญที่มีผลต่อการมีบุตรที่เห็นได้ชัด 5 ประการ คือ (1) การเพิ่มพลังอํานาจของสตรี (2) สุขภาพและสถานะของเด็กดีขึ้น (3) รายได้และความมั่งคั่งของผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้น (4) วัฒนธรรมและบรรทัดฐานทางสังคมเปลี่ยนไป และ (5) ทัศนคติต่อการมีบุตรของคนเจเนอเรชันวาย

ภาพอนาคตฐานของการเกิดในเมืองตามแนวโน้มเดิมมีอยู่ 5 ภาพ ได้แก่ (1) การเจริญพันธุ์น้อยลงเป็นเมกะเทรนด์ระดับอารยธรรมมนุษย์ (2) ผู้ชายเป็นตัวละครที่หายไปในเรื่องการเจริญพันธุ์ (3) ความเหลื่อมล้ําด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์(4) การเจริญพันธุ์ของแรงงานต่างด้าว และ (5) เมืองกินเด็ก

ในการสร้างฉากทัศน์อนาคตของการเกิดในเมือง ปัจจัยขับเคลื่อน 2 ประการที่เลือกมาใช้เป็นตรรกะฉากทัศน์ได้แก่การใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกิดและเลี้ยงดูเด็ก และ ทัศนคติเกี่ยวกับการตัดสินใจในการมีบุตร เมื่อนําแกนปัจจัยทั้งสองเมื่อไขว้กันแล้ว จะสามารถสร้างเป็นฉากทัศน์อนาคตของการเกิดในอนาคตได้4 ฉาก ได้แก่ (1) ครรภ์ออร์แกนิก (Organic wombs): การเกิดโดยธรรมชาติในกรอบค่านิยมเสรีนิยม (2) ครรภ์เลือกได้(Eugenic wombs): การเกิดด้วยเทคโนโลยีเข้มข้นในกรอบค่านิยมเสรีนิยม (3) ครรภ์ชาตินิยม (Nationalist wombs): การเกิดด้วยเทคโนโลยีเข้มข้นในกรอบค่านิยมชุมชนนิยม และ (4) ครรภ์ก้าวหน้า (Progressive wombs): การเกิดโดยธรรมชาติในกรอบค่านิยมแบบชุมชนนิยม

จากภาพอนาคตข้างต้น จึงได้ข้อเสนอเชิงนโยบายในด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณูปการสําหรับการมีบุตรด้านภาษีและการเงิน ด้านการทํางานและสถานที่ทํางาน ด้านการศึกษา และด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์