EN/TH
EN/TH
กลุ่มอนาคตศึกษา>อ- คนเมือง 4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย โครงการย่อยที่ 7 - งานวิจัยอนาคต-อภิวัฒน์ รัตนวราหะ
อ- คนเมือง 4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย โครงการย่อยที่ 7 - งานวิจัยอนาคต-อภิวัฒน์ รัตนวราหะ
ผู้วิจัย : รศ.ดร. อภิวัฒน์ รัตนวราหะ   โพสต์ เมื่อ 13 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 187 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 33 ครั้ง

เนื้อหาของรายงานฉบับนี้สรุปขั้นตอนและวิธีการประยุกต์ใช้แนวคิดและวิธีการคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์ในการมองภาพอนาคตทางเลือกของชีวิตเมืองในประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า วัตถุประสงค์หลักของโครงการวิจัยนี้คือเพื่อทดลองใช้กรอบแนวคิด กระบวนการและเครื่องมือด้านอนาคตศึกษาในการวิเคราะห์และฉายภาพอนาคตของชีวิตเมืองในประเทศไทย โดยการสกัดประสบการณ์ในการคาดการณ์ออกมาเป็นบทเรียนด้านอนาคตศึกษาความมุ่งหวังจากงานในส่วนนี้คือ บทเรียนดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการสร้างกระบวนการคาดการณ์ เพื่อกําหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาและนโยบายสาธารณะที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้ต่อไป

โครงการวิจัยนี้ได้ใช้กรณีศึกษาชีวิตคนเมืองเป็นเนื้อหาในการทดลองใช้กระบวนการและเครื่องมือในการคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์ ประกอบด้วยโครงการย่อยทั้งหมด 6 โครงการที่ครอบคลุมชีวิตคนเมืองในมิติต่าง ๆ คือ การเกิด การอยู่อาศัย การทํางาน การเดินทาง การซื้อของ และการตาย โดยมีคําถามวิจัยหลักสําหรับการทดลองคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์ คือ การใช้ชีวิตวิถีเมืองในประเทศไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไรในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า และงานวิจัยในส่วนนี้ยังได้ดําเนินการตามกรอบแนวคิดพื้นฐานความคิดของวงการอนาคตศึกษา 4 ประการ คือ 1) เชื่อในความเป็นพหุของภาพอนาคต 2) เชื่อว่าการคิดเกี่ยวกับอนาคต ความรู้เกี่ยวกับอนาคต และภาพลักษณ์เกี่ยวกับอนาคต มีผลต่อการตัดสินใจในการดําเนินการในปัจจุบัน 3) เชื่อในการสร้างปัญญาร่วม เนื่องจากไม่มีคนใดคนหนึ่งรู้มากกว่าคนอื่น และ 4) เชื่อในการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการคิดเกี่ยวกับอนาคต

วิธีการคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์ในโครงการนี้ผู้วิจัยได้ประยุกต์ใช้แนวคิด Framework Foresight ของ Andy Hines และ Peter Bishop เป็นหลัก แต่ได้เพิ่มเครื่องมือวิเคราะห์เพิ่มเติมในบางขั้นตอน ตามแนวคิดFramework Foresight กระบวนการคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์สามารถแบ่งได้9 ขั้นตอน ดังนี้

1. การกําหนดกรอบการคาดการณ์ (scoping/framing)

2. การกวาดสัญญาณ (scanning)

3. การพัฒนาผังระบบ (system mapping)

4. การฉายภาพอนาคตฐาน (baseline future)

5. การฉายภาพอนาคตทางเลือก (alternative futures)

6. การกําหนดภาพอนาคตพึงประสงค์ (preferred future)

7. การวิเคราะห์ความหมายและนัย (implications analysis)

8. การวางแผน (planning)

9. การสังเกตการณ์และติดตามสถานการณ์ (observing and monitoring)