วัตถุประสงค์หลักของโครงการวิจัย “คนเมือง 4.0: อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย” คือเพื่อคาดการณ์ภาพอนาคตของการใช้ชีวิตของคนเมืองในประเทศไทยใน 6 ด้าน ได้แก่ การอยู่อาศัย การทํางาน การเดินทาง การซื้อของ การเกิด และการตาย โดยดําเนินการตามหลักการและวิธีการของการคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์ และกําหนดขอบเขตเชิงพื้นที่ไว้ภายในมหานครกรุงเทพ ข้อค้นพบสําคัญของงานในปีแรกมีดังต่อไปนี้
เมื่อวัดระดับความเป็นเมืองของประเทศไทยตามจํานวนประชากรในทุกตําบลที่มีร้านสะดวกซื้อและเครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติพบว่า สัดส่วนความเป็นเมืองสูงกว่าเมื่อวัดจากจํานวนประชากรทั้งหมดในเทศบาล
ปัจจัยขับเคลื่อนสําคัญระดับโลกที่มีผลต่อชีวิตคนในอีก 20 ปีข้างหน้ามีอยู่หลายประการ แต่หลายสัญญาณที่มีคุณลักษณะเชิงปฏิทรรศน์หรือพาราด็อกซ์ ทั้งนี้แนวโน้มที่คาดว่าน่าจะมีผลกระทบอย่างมากต่อภาพอนาคตทางเลือกของการใช้ชีวิตในมหานครกรุงเทพมีดังต่อไปนี้ (1) ครอบครัวแนวใหม่ (2) ชีวิตวิถีแพลตฟอร์ม (3) การพัฒนาเมืองจะกลับมากระจุกตัวในพื้นที่กลางเมือง หรือจะกระจายตัวออกไปยังชานเมืองตามเส้นทางถนนและรถไฟฟ้า (4) ก้าวพ้นหรือสร้างความหมายใหม่บนพื้นที่กายภาพ จากแนวโน้มเหล่านี้ภาพอนาคตฐานตามแนวโน้มของชีวิตคนเมืองในมหานครกรุงเทพ ประกอบด้วยชีวิตเมืองภายใต้โลกาภิวัตน์ชีวิตสังเคราะห์บนแพลตฟอร์ม ชีวิตวิถีเดี่ยวแบบชนเผ่าเมือง ชีวิตเหลื่อมล้ําตามแต่เกิด ชีวิตถวิลหาและตามยถากรรมธรรมชาติและชีวิตเสรีนิยม
ปัจจัยสองประการที่น่าจะทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสําคัญเพื่อใช้ในการกําหนดตรรกะฉากทัศน์ระดับสูงได้แก่ รูปแบบและวิธีคิดของการรวมกลุ่มและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งแบ่งเป็นการรวมกลุ่มแบบพี่น้องพรรคตามแนวคิดแบบชุมชนนิยมและการรวมกลุ่มแบบเครือข่ายเปิดกว้างแบบโลกนิยม และพื้นที่การใช้ชีวิตมนุษย์ซึ่งแบ่งเป็นการยึดติดกับที่ตั้งทางกายภาพและการปลดปล่อยด้วยการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ
ภาพอนาคตทางเลือกของชีวิตเมืองในมหานครกรุงเทพอีก 20 ข้างหน้า 4ฉากทัศน์ด้วยกัน ได้แก่ นกนางนวลบินว่อนทวิภพ (โลกนิยม + เชื่อมโยงไร้รอยต่อ) นกกระจอกเทศประจําทุ่งหญ้า (โลกนิยม + ยึดติดที่ตั้ง) นกฮูกติดพวกติดโพรง (ชุมชนนิยม + ยึดติดที่ตั้ง) เหยี่ยวโฉบถลาบนฟ้าเสมือน (ชุมชนนิยม + เชื่อมโยงไร้รอยต่อ)
คณะผู้วิจัยเสนอว่า แนวคิดคติรวมหมู่น่าจะเป็นแนวคิดพื้นฐานสําหรับการสร้างยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับภาพอนาคตทางเลือกทั้ง 4 ภาพ โดยมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ ยุทธศาสตร์การรองรับและส่งเสริมการใช้ชีวิตร่วม ยุทธศาสตร์การสร้างปัญญาร่วม ยุทธศาสตร์การเพิ่มพื้นที่ส่วนรวมทั้งรูปแบบเก่าและใหม่ ยุทธศาสตร์การปรับสมดุลอํานาจในการต่อรองบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม