EN/TH
EN/TH
กลุ่มอนาคตศึกษา>อ- คนเมือง 4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทยโครงการย่อยที่ 2-2 - การไร้บ้านในเมือง-อนรรฆ พิทักษ์ธานิน
อ- คนเมือง 4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทยโครงการย่อยที่ 2-2 - การไร้บ้านในเมือง-อนรรฆ พิทักษ์ธานิน
ผู้วิจัย : นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน   โพสต์ เมื่อ 13 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 246 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 22 ครั้ง

งานศึกษา คนเมือง 4.0: อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย โครงการย่อยที่ 2-2 อนาคตการไร้บ้านในเมือง มีเป้าหมายสำคัญในการใช้วิธีการทางอนาคตศึกษา (foresight study) และวิธีการคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์ด้วยกรอบ STEEPV ในการวิเคราะห์ปัจจัยขับเคลื่อน แนวโน้มความเปลี่ยนแปลง และสร้างภาพอนาคตของการไร้บ้านในกรุงเทพมหานครฯ ที่ชี้ให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านในอนาคต ตลอดจนการเสนอแนะบนฐานการวิจัยเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์และแนวนโยบายในการเตรียมความพร้อมรับมือกับการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านและความเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านภายใต้ความเปลี่ยนแปลง ความเสี่ยง และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองในอนาคต

งานศึกษาชิ้นนี้ได้กำหนดขอบเขตการศึกษาให้อยู่ในช่วงการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านหรือภาวะก้ำกึ่งต่อการไร้บ้าน (proto-homelessness) อันเป็นเป็นภาวะที่สะท้อนความเปราะบางของเมืองที่สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม พื้นที่ และการอยู่อาศัยของเมืองในอนาคตได้อย่างชัดเจน รวมถึงมีความสำคัญในฐานะช่วงรอยต่อระหว่างความเสี่ยงต่อภาวะไร้บ้านและการไร้บ้านถาวร และเป็นภาวะที่ปรากฏการไร้บ้านแบบชั่วคราว (temporary homelessness) ซึ่งมีแนวโน้มการไร้บ้านในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ

ผลการศึกษาพบว่าแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพมหานครในอนาคต อาทิ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมในเขตเมืองที่เพิ่มมากขึ้น ค่าครองชีพและที่อยู่อาศัยในเมืองที่เพิ่มสูงขึ้น การเพิ่มจำนวนของครัวเรือนตัวคนเดียว (one-person household) การเข้าสู่สังคมสูงวัยและผู้สูงอายุที่อยู่ตัวคนเดียว ความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในการผลิต ความไม่แน่นอนทางรายได้และการทำงาน และพื้นที่พึ่งพิงทางสังคมที่ลดน้อยลง จะส่งผลให้เกิดความเปราะบางที่เพิ่มมากขึ้นของประชากรในเมืองและตาข่ายปลอดภัยทางสังคม (social safety net) ที่ลดน้อยลงอันเป็นพื้นฐานของแนวโน้มการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านและประชากรในภาวะก้ำกึ่งต่อภาวะไร้บ้านที่จะเพิ่มมากขึ้น และเป็นภาพอนาคตฐาน (baseline future) ของการไร้บ้านในเมือง อันมีทิศทางตรงกันข้ามกับภาพอนาคตที่พึงประสงค์ (preferable future) ที่ได้จากการประเมินผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการและภายใต้กรอบของความเสมอภาค (equity) ความยั่งยืน (sustainability) และประสิทธิภาพ (efficiency) อันมีสาระสำคัญอยู่ที่เมืองยังสามารถเป็นที่พึ่งพิงและสร้างตาข่ายปลอดภัยทางสังคมให้กับกลุ่มเปราะบางทางสังคมได้อันส่งผลให้ภาวะไร้บ้านและภาวะก้ำกึ่งต่อการไร้บ้านจะมีจำนวนและความเสี่ยงไม่มากนัก 

ข้อเสนอแนะทางยุทธศาสตร์ของงานศึกษาชิ้นนี้เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของเมืองที่ส่งผลต่อภาวะไร้บ้านในอนาคต และการเปลี่ยนภาพอนาคตฐานและแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านในเมืองมาสู่ภาพอนาคตที่พึงประสงค์ของการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านในเมือง คือ ยุทธศาสตร์การปรับบทบาทและความหมายของรัฐในการจัดการภาวะไร้บ้านและภาวะก้ำกึ่งต่อการไร้บ้านภายใต้ความพลิกผันของเมืองในอนาคต ที่ตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่าจากแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่มีลักษณะของความไม่แน่นอนที่สูงและมีแนวโน้มของความเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน ภาครัฐและระบบราชการจะไม่สามารถรับมือได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นที่จะต้องปรับบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ของภาครัฐ และจัดความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคมภายใต้สัญญาประชาคมใหม่ (new social contract) ที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมและภาคเอกชนที่มีความยืดหยุ่นได้เข้ามาจัดการรับมือกับปัญหาที่จะส่งผลต่อภาวะไร้บ้านในอนาคต อันมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ย่อยประกอบไปด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 ระบบที่อยู่อาศัยครบวงจรเพื่อลดความเสี่ยงในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านถาวร ยุทธศาสตร์ที่ 2 ตาข่ายปลอดภัยป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน และยุทธศาสตร์ที่ 3 ขยายความเป็นส่วนรวม (sense of common) ในพื้นที่ของเมือง