EN/TH
EN/TH
เอกสารวิจัย>ศ-โครงการการมีส่วนร่วมของชุมชนในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพื่อการพัฒนาผังและแผนย่านต้นแบบ-ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร
ศ-โครงการการมีส่วนร่วมของชุมชนในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพื่อการพัฒนาผังและแผนย่านต้นแบบ-ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร
ผู้วิจัย : นายศุภวุฒิ บุญมหาธนากร   โพสต์ เมื่อ 29 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 133 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 4 ครั้ง

ความเปลี่ยนแปลงและการเจริญเติบโตของเมืองเชียงใหม่ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นำมาซึ่งโอกาสการพัฒนาในมิติต่างๆให้กับคนในพื้นที่ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทาย เป็นแรงกดดันต่อกลุ่มผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมในพื้นที่ รวมถึงกระทบต่อคุณค่าและรูปแบบวิถีชีวิตที่เคยเป็นมา  การเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบโครงสร้างสังคมเมือง ได้บ่มเพาะความแตกต่างหลากหลายจนกลายมาเป็นความขัดแย้งที่เด่นชัดระหว่าง “คุณค่าเดิมที่ดำรงอยู่ กับ สิ่งใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว” จึงกลายมาเป็นโจทย์ที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ว่าจะทำอย่างไรให้เมืองสามารถคงคุณค่าวิถีวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานที่สำคัญของพื้นที่ไว้ แต่ในขณะเดียวกันก็เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ได้อย่างลงตัว โครงการการมีส่วนร่วมของชุมชนในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพื่อการพัฒนาผังและแผนย่านต้นแบบ ผ่านการพัฒนาพื้นที่ระดับย่าน โดยมีพื้นที่ย่านช้างม่อย และย่านล่ามช้าง ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ต้นแบบในการศึกษา โดยงานวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษากรอบแนวทางการพัฒนาเมือง/ย่าน ผ่านกรณีศึกษา ระบบกฎหมายและกลไกที่เกี่ยวข้องในการจัดทำผังและแผนการพัฒนาย่าน 2) เพื่อสำรวจรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล พื้นที่ย่านช้างม่อยและย่านล่ามช้าง และวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่เพื่อนำไปสู่การออกแบบตั้งโจทย์การพัฒนาพ้นที่ 3) เพื่อจัดทำผังและแผนการพัฒนาย่านอย่างมีส่วนร่วม และ 4) เพื่อสร้างระบบนิเวศการทำงานร่วมของผู้คนในพื้นที่ และผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ โดยอาศัยเครื่องมือด้านการวางผังและแผนการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมเป็นเครื่องมือ ผ่านกระบวนการสำรวจและเก็บข้อมูลพื้นฐานของย่าน (Baseline Data) และการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านเครื่องมือ (SWOT Analysis) และ การสร้างแผนภาพในอนาคตของพื้นที่ผ่าน (Scenario Planning) เพื่อสร้างฉากทัศน์ของการพัฒนาพื้นที่และนำไปสู่กระบวนการสร้างกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ และการออกแบบผังและแผนการพัฒนาระดับย่านโดยผู้คนที่หลากหลาย 

ผลจากการศึกษาวิจัยที่แสดงให้เห็นข้อมูลเชิงปริมาณ สัดส่วนการใช้พื้นที่ ความคิดความเห็นต่อการพัฒนาย่าน รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผู้คนที่หลากหลายในทั้ง 2 ย่าน มีความน่าสนใจ มีความเหมือนหรือคล้ายกันในหลายประเด็น เช่น ประเด็นสัดส่วนการใช้ประโยชน์อาคารในย่าน ที่แสดงให้เห็นจำนวนการใช้ประโยชน์อาคารเพื่อการพาณิชยกรรมในสัดส่วนที่สูงเป็นลำดับต้นๆของพื้นที่ ควบคู่กับการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยของกลุ่มคนที่อยู่อาศัยดั้งเดิม แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์พื้นที่ระหว่างคนสองกลุ่ม การเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ที่ดินของเจ้าของที่ดินดั้งเดิมกลายเป็นนักลงทุนจากภายนอก หรือการเกิดขึ้นใหม่ของกิจกรรมทางธุรกิจที่กระทบกับการใช้ชีวิตในบริบทชุมชนเดิม ทำให้กิจกรรมทางธุรกิจ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางสังคมเดิมในพื้นที่ย่าน ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นร่วมของทั้ง 2 ย่าน นอกจากนี้ยังได้ค้นพบประเด็นอื่นๆที่น่าสนใจ และมีศักยภาพในการหยิบยกนำมาเป็นประเด็นร่วมในการสร้างการพัฒนาย่าน ที่ทั้งผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมและผู้ประกอบการต่างได้ประโยชน์ร่วมกัน และทำให้ย่านน่าอยู่ เช่น การเพิ่มพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียวจากพื้นที่ริมทางเดิน หรือ ในพื้นที่วัด พร้อมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงและเชื่อมต่อภายในย่านด้วยการเดินที่มีคุณภาพ จะช่วยเพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะที่ใช้งานได้จริงถึง 25% ของพื้นที่ในย่านล่ามช้าง และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวบริเวณถนน และในพื้นที่วัด จะเพิ่มการเชื่อมโยงพื้นที่สาธารณะจุดต่างๆของย่านช้างม่อยได้ดียิ่งขึ้น และอีกประเด็นที่สำคัญคือ เรื่องทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งเป็นอีกประเด็นหลักที่ผู้คนให้ความสนใจอย่างมากในการกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ย่านเพื่อการค้าที่เป็นมิตรกับผู้อยู่อาศัย

จากกระบวนการและเครื่องมือที่ใช้ในการออกแบบวางผังอย่างมีส่วนร่วมกับผู้คนในย่าน จนเกิดเป็นกรอบแนวคิดยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับย่าน และนำมาสู่การวางผังและแผนการพัฒนาพื้นที่ย่าน ที่ผู้คนในพื้นที่ร่วมแสดงความคิดเห็นกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง ผ่านพื้นที่กลางในการพูดคุยร่วมคิดร่วมแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มคนต่างๆที่หลากหลายในพื้นที่ สร้างความตระหนักรู้ความเข้าใจประเด็นการขับเคลื่อนสาธารณะกับเจ้าของพื้นที่ ในฐานะเป็นผู้กำหนดเป้าหมายทิศทางการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ของตนเอง รวมถึงการค้นหาโจทย์ร่วมที่ผู้คนในพื้นที่เห็นตรงกันและอยากขับเคลื่อนต่อในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาเมืองระดับย่านเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนมีความสัมพันธ์กับหลายหน่วยงาน จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐทั้งในระดับจังหวัดและระดับนโยบาย เพื่อผลักดันและต่อยอดให้ผังและแผนการพัฒนาระดับย่านไปสู่การทดลองปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดชุดความรู้จากรูปแบบการทำงานใหม่ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้คนในระดับย่าน และเกิดเป็นนโยบายสำคัญต่อการพัฒนาเมืองต่างๆในอนาคต