EN/TH
EN/TH
กลุ่ม Big data และดัชนีสังคมไทย>จ-คนไทย 3.0 สู้เฟคนิวส์และรับมือภาวะฟุ้งกระจายของข่าวสาร ในช่วงวิกฤติไวรัส COVID-19 ระยะที่ 2-จิราวิทย์ ญาณจินดา และคณะ
จ-คนไทย 3.0 สู้เฟคนิวส์และรับมือภาวะฟุ้งกระจายของข่าวสาร ในช่วงวิกฤติไวรัส COVID-19 ระยะที่ 2-จิราวิทย์ ญาณจินดา และคณะ
ผู้วิจัย : ผศ.ดร.จิราวิทย์ ญาณจินดา และคณะ   โพสต์ เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2022
จำนวนผู้เข้าชม 208 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 7 ครั้ง

โครงการวิจัย เรื่อง “คนไทย 3.0 สู้เฟคนิวส์และรับมือภาวะฟุ้งกระจายของข่าวสารในช่วงวิกฤติไวรัส COVID-19 ระยะที่ 2” มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาพฤติกรรมการรับส่งข่าวสารและการตัดสินใจเชื่อข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับไวรัส COVID-19 ของคนไทย 3.0  2) เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการรับส่งข่าวสารและการตัดสินใจเชื่อข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับไวรัส COVID-19 ของคนไทย 3.0 และ 3) เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงประมาณ ขอบเขตทางด้านเนื้อหา ได้แก่ เนื้อหาข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับไวรัส COVID-19 และข้อมูลด้านพฤติกรรมการรับส่งข่าวสาร กลุ่มตัวอย่างได้แก่ประชาชนทั่วไปที่ได้รับข่าวสารเกี่ยวกับไวรัส COVID-19 ผ่านช่องทางต่าง ๆ และกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ชุมชนเมืองและชุมชนชนบท ครอบคลุม 4 ภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ดำเนินการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามออนไลน์และการสัมภาษณ์เชิงลึกรวมถึงการสนทนากลุ่มเกี่ยวกับข่าวสารและพฤติกรรรมการรับและส่งข่าวสาร และข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับไวรัส COVID-19 

ผลการดำเนินงาน พบว่าในช่วงเวลาการระบาดตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2564 พบข่าวปลอมและสามารถจำแนกประเภทของข่าวปลอม ได้แก่ ข่าวที่ทำให้เข้าใจผิด (Misleading) ข่าวโยงมั่ว (False connection) ข่าวมโนทุกอย่าง (Fabricated) ข่าวมโนที่มา (Impostor) ข่าวเสียดสีหรือตลก (Satire or Parody) ข่าวผิดที่ผิดทาง (False Context)  และข่าวปลอม/ตัดต่อ (Manipulated) ตามลำดับ มีความถี่ของคำที่พบบ่อยในข่าวสาร เรียงตามลำดับได้แก่ ไวรัส COVID-19 ติดเชื้อ ผู้ป่วย/คนไข้ และคำอื่น ๆ ได้แก่ วัคซีน ผู้ติดเชื้อ แพทย์ พยาบาล เสียชีวิต ติดไวรัส COVID-19 ท่องเที่ยว ไทม์ไลน์ ล็อกดาวน์ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

พฤติกรรมความสนใจการเสพสื่อและการรับข่าวสารของกลุ่มประชากรจากช่องทางออนไลน์ ส่วนใหญ่มักติดตามเฉพาะเรื่องที่ตนสนใจ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ส่งข่าวต่อ แต่หากต้องการส่งต่อ มักส่งต่อไปสู่ครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน และแชร์สาธารณะบนหน้าเฟซบุ๊กของตัวเอง โดยมีสาเหตุหลักที่ส่งต่อข่าวสารคือคิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้รับข่าวสาร และได้รับข่าวมาจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ประชาชนตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข่าวด้วยวิธีเทียบข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งข่าว ติดตามจากแถลงการณ์ของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ในรายที่ไม่ได้ตรวจสอบมีสาเหตุมาจากความเชื่อถือที่มีต่อแหล่งข่าว เมื่อได้รับข่าวเกี่ยวกับไวรัส COVID-19 โดยส่วนใหญ่ไม่แน่ใจว่าข่าวที่ตนได้รับเป็นข่าวปลอม เนื่องจากช่องทางที่ได้รับข่าวสารปลอมมาจากบุคคลใกล้ตัวและบุคคลที่น่าเชื่อถือ ในช่วงการแพร่ระบาดช่วงแรก (มกราคม - มิถุนายน 2563) เทียบกับในช่วงการแพร่ระบาดเบาบางลง (กรกฎาคม - พฤศจิกายน 2563) และในช่วงการระบาดระลอกใหม่ (พฤศจิกายน 2563-สิงหาคม 2564) พบว่า ในช่วงการระบาดระลอกใหม่ประชาชนได้รับข่าวสารเกี่ยวกับไวรัส COVID-19 มากขึ้น อีกทั้งมีความสนใจติดตามข่าวสารเกี่ยวกับไวรัส COVID-19 มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามกลับพบว่าประชาชนมีการส่งต่อข่าวสารเท่าเดิมหรือลดลง เนื่องจากประชาชนมองว่าในช่วงการระบาดระลอกใหม่สื่อทุกช่องให้ความสนใจและนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับไวรัส COVID-19 ทุกวันและทุกช่องทาง จึงไม่มีความจำเป็นในการส่งต่อข่าวสารมากนัก 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการรับส่งข่าวสารและการตัดสินใจเชื่อข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับไวรัส COVID-19 ของคนไทย 3.0 แบ่งเป็นปัจจัยภายนอก ได้แก่ แหล่งที่มาของข่าวปลอม หลักฐานหรือสิ่งอ้างอิงเพื่อสนับสนุนข่าวปลอม ช่องทางการกระจายข่าวปลอม และปัจจัยภายใน ได้แก่ ช่วงวัยของผู้รับข่าว ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตนเอง ความห่วงใยและปรารถนาดีต่อคนใกล้ชิด ปัจจัยใดที่อาจสามารถพัฒนาการเลือกบริโภคข่าวสารถูกต้องแก่คนไทยได้แก่ การพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ หรือ Critical Thinking ของคนไทย และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายได้แก่  การจัดตั้งหน่วยงานด้านการกรองข่าวปลอมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน การบังคับใช้กฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดด้านการเผยแพร่ข่าวสารที่ไม่ถูกต้องอย่างจริงจัง นโยบายเสริมสร้างและพัฒนาจริยธรรมสื่อมวลชนอย่างจริงจัง การสร้างระบบการติดตาม ตรวจสอบ และพัฒนาสื่อบุคคล เพื่อส่งเสริมการนำเสนอข่าวสารที่ถูกต้องต่อประชาชน นโยบายการส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายข่าวปลอดภัยทั้งในภาครัฐบาลและภาคเอกชน การส่งเสริมและให้อำนาจศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center Thailand) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการดำเนินงานให้เกิดผลและเกิดความรวดเร็วในการช่วยเหลือประชาชน