EN/TH
EN/TH
กลุ่มนวัตกรรมทางสังคม>ภ-การศึกษาเพื่อพัฒนาการจัดการธุรกิจร้านค้าอัจฉริยะ (ออนไลน์ทูออฟไลน์: โอ ทู โอ) เพื่อผู้ประกอบการดิจิทัล (ระยะที่ 2)-ภัทรพร คูวุฒยากร และคณะ
ภ-การศึกษาเพื่อพัฒนาการจัดการธุรกิจร้านค้าอัจฉริยะ (ออนไลน์ทูออฟไลน์: โอ ทู โอ) เพื่อผู้ประกอบการดิจิทัล (ระยะที่ 2)-ภัทรพร คูวุฒยากร และคณะ
ผู้วิจัย : ผศ.ดร.ภัทรพร คูวุฒยากร และคณะ   โพสต์ เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2022
จำนวนผู้เข้าชม 186 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 2 ครั้ง

โครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาเพื่อพัฒนาการจัดการธุรกิจร้านค้าอัจฉริยะ (ออนไลน์ทูออฟไลน์: โอ ทู โอ) เพื่อผู้ประกอบการดิจิทัล (ระยะที่ 2)” มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาหลักสูตรการจัดการร้านค้าในธุรกิจร้านค้าแบบ โอ ทู โอ สำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารจัดการธุรกิจร้านค้าปลีกเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ โครงการนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development : R&D) โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 การศึกษาและพัฒนาต้นแบบร้านค้าไร้พนักงานขายสำหรับธุรกิจร้านค้าแบบ โอ ทู โอ ได้แก่ ระบบฮาร์ดแวร์ (Hardware System) และ ระบบซอฟท์แวร์ 4 ระบบ ประกอบด้วย ระบบหน้าร้าน ระบบชำระเงิน ระบบคลังสินค้า และระบบการจัดการโลจิสติกส์

โครงการในระยะที่ 2 เป็นการนำระบบต้นแบบร้านค้าที่ได้จากการพัฒนาในระยะที่ 1 มาทดสอบการทำงานของระบบเพื่อหาข้อผิดพลาดและดำเนินการแก้ไข จากนั้นเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นการซื้อสินค้าออนไลน์และความคิดเห็นต่อร้านค้าไร้พนักงานขาย CMU O2O ของกลุ่มตัวอย่าง รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการจัดการธุรกิจร้านค้าแบบ โอ ทู โอ โดยใช้หลักการออกแบบตามแนวทางการศึกษาที่มุ่งผลลัพธ์ (Outcome Based Education: OBE) การจัดกิจกรรมวิพากษ์หลักสูตร และประเมินความเหมาะสมของหลักสูตร โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กำลังคนด้าน IT และ ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง

รายงานของโครงการระยะที่ 2 ส่วนแรกระบุถึงผลการทดสอบการทํางานของระบบกับธุรกิจจริง สรุปผลข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นและกระบวนการแก้ไข ระบบจัดการหน้าร้านและการทํางานหลังร้าน ผลสรุปด้านพฤติกรรมการซื้อสินค้ารวมถึงประสบการณ์ด้านลบในการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคทั่วไป ตลอดจนความคิดเห็นต่อร้านค้าไร้พนักงานขาย CMU O2O ในส่วนหลังเป็นผลการพัฒนาหลักสูตรตามแนวทาง OBE ได้ผลลัพธ์เป็นหลักสูตร จํานวน 3 หลักสูตร (โดยจัดทําเนื้อหาแยกเล่ม) พร้อมแก่การนําไปใช้ประโยชน์จัดอบรม ประกอบด้วย

(1) หลักสูตรการจัดการธุรกิจร้านค้าแบบ โอ ทู โอ สําหรับผู้ประกอบการดิจิทัล

(2) หลักสูตรเชิงปฏิบัติการการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสําหรับในร้านค้าแบบ โอ ทู โอ

(3) หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์รูปแบบ โอ ทูโอ สําหรับธุรกิจ SMEs

ทีมวิจัยยังเชื่อว่าการสร้างทักษะด้านดิจิทัล ความเข้าใจเรื่องจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบให้แก่กําลังคนในประเทศ ทั้งในธุรกิจ SMEs หรือกลุ่มผู้สนใจในการขายสินค้าออนไลน์ หรือการสร้างกําลังคนที่มีทักษะด้าน IT จะช่วยให้ธุรกิจมีพื้นฐานที่มั่นคงในการค้าขายกับตลาดที่ใหญ่ขึ้น และมีระบบที่จัดการได้จะสามารถช่วยให้ธุรกิจ SME ไทยสามารถแข่งขันได้ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

คําสําคัญ : ธุรกิจแบบ ออนไลน์ ทู ออฟไลน์; โอ ทู โอ; ร้านค้าไร้พนักงานขาย; ดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน; ผู้ประกอบการดิจิทัล; การค้าปลีก