EN/TH
EN/TH
กลุ่มความเชื่อและคุณธรรมศึกษา>จ-การสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะ พฤติกรรม และทัศนคติในอนาคตของชาวดิจิทัลไทย ฉบับสมบูรณ์-จุลนี เทียนไทย
จ-การสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะ พฤติกรรม และทัศนคติในอนาคตของชาวดิจิทัลไทย ฉบับสมบูรณ์-จุลนี เทียนไทย
ผู้วิจัย : รศ.ดร.จุลนี เทียนไทย และคณะ   โพสต์ เมื่อ 29 มีนาคม 2022
จำนวนผู้เข้าชม 245 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 77 ครั้ง

การทำความเข้าใจ “ชาวดิจิทัล (Digital Natives)” เป็นกุญแจสำคัญต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ที่ต้องการพัฒนาประเทศพร้อมกับสร้างคนไทย 4.0 กลุ่มประชากรดิจิทัลของไทยที่สำคัญคือ “ประชากรกลุ่มเจเนอเรชันวาย (Gen Y) และกลุ่มเจเนอเรชันซี (Gen Z)” ด้วยรุ่นการเกิดและเติบโตมาพร้อมกับการมี การใช้ และการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ประชากรกลุ่มนี้เป็นวัยแรงงานที่สำคัญของประเทศทั้งช่วงเวลาปัจจุบันและในอนาคต โครงการวิจัยนี้จึงมีเป้าหมายสำคัญเพื่อศึกษาประชากรกลุ่มดังกล่าว ซึ่งกลุ่มประชากรที่ใช้ในการวิจัยนี้มี 960 คน ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ 1) “ประชากรดิจิทัล” จำนวน 910 คน เป็นผู้ที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2524-2549 โดยผู้ที่อายุ 13-23 ปีจัดเป็น “ชาวดิจิทัลรุ่นใหม่” ส่วนผู้ที่อายุ 24-38 ปี จัดเป็น “ชาวดิจิทัลรุ่นเก่า” 2) ผู้ที่เกี่ยวข้องกับชาวดิจิทัล จำนวน 50 คน ได้แก่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ และนายจ้างหรือผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้ ประชากรทั้งสองกลุ่มอยู่พื้นที่การศึกษาหลัก 3 จังหวัดคือ 1) กรุงเทพมหานคร เป็นตัวแทนเมืองหลวง 2) จังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวแทนเมืองหลัก และ 3) จังหวัดนครพนม เป็นตัวแทนเมืองรอง

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 4 ประการคือ 1) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีจากมุมมองของชาวดิจิทัลในสังคมไทย 2) ศึกษาอัตลักษณ์รุ่นของชาวดิจิทัลไทย 3) มุมมองต่อความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่จำเป็นของชาวดิจิทัลไทย และ 4) ศึกษาภาพในอนาคตอันเกิดจากมุมมองของชาวดิจิทัลไทย ซึ่งประกอบด้วยภาพหลักคุณธรรมสำคัญในการเป็นพลเมืองที่ดีของไทย รวมถึงความกลัว ความฝัน และความหวังของคนรุ่นใหม่สำหรับวิธีการวิจัยนั้น เป็นการวิจัยที่ใช้เทคนิคระเบียบวิธีวิจัยทางมานุษยวิทยาเป็นหลัก ซึ่งมีเทคนิควิธีการที่สำคัญคือ 1) เทคนิคการวิจัยแบบสอบถามสัมภาษณ์ 2) เทคนิคการรวบรวมคำศัพท์ 3) เทคนิคการวาดภาพเชิงพรรณนา 4) เทคนิคการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง ประเภทการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก นอกจากนี้ยังใช้วิธีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ข้อมูลด้วยเทคนิควิธีการสกัดและวิเคราะห์ข้อความออนไลน์ โดยมีระยะเวลาในการวิจัยทั้งหมด 14 เดือน (เดือนเมษายน 2562 ถึงเดือนมิถุนายน 2563)

ผลการวิจัยพบว่า ตามมุมมองของชาวดิจิทัลไทย การพัฒนาเทคโนโลยีส่งผลให้พฤติกรรม การปฏิสัมพันธ์ และบรรทัดฐานสังคมเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงทำให้เกิดการสร้างแบบแผนใหม่ เช่น การเลือกปฏิบัติต่อกัน การตัดสินความผิด-ชอบ ชั่ว-ดี การใช้ภาษา วิธีคิดต่อการใช้ชีวิต การสร้างและนำเสนอตัวตน ตลอดจนปัญหาสุขภาพรูปแบบใหม่ที่ สถาบันทางสังคมได้รับผลกระทบในเชิงโครงสร้าง สถานภาพ บทบาทหน้าที่ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เกิดการสร้าง “ความเหลื่อมล้ำ” ในมิติทางสังคมรูปแบบต่าง ๆ การเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี การจัดการชีวิต การเรียนรู้ การทำงานและองค์กร ความสัมพันธ์ในครอบครัว การโต้แย้งต่อหลักคุณธรรม รวมถึงความกลัว ความหวัง และความหวังของชาวดิจิทัล 

สำหรับการนิยามอัตลักษณ์รุ่นของชาวดิจิทัลไทยนั้นมีการผสมผสานบริบทความเป็นสากลและบริบทของสังคมไทยเข้าด้วยกัน ความแตกต่างของอัตลักษณ์มาจากอายุและประสบการณ์ชีวิตซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการกำหนดความคิด ทัศนคติ วิธีการคิด การมองโลก การเปิดรับ การปรับตัว ตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิต และวิถีการใช้เทคโนโลยีซึ่งอัตลักษณ์สำคัญของชาวดิจิทัลไทยรุ่นใหม่คือ ความทันโลก มีศักยภาพทางเทคโนโลยี ปรับตัวได้เร็ว เปิดใจรับต่อสิ่งใหม่ และมีความหลากหลาย ทั้งนี้ ไม่ใช่ชาวดิจิทัลทุกคนจะมีคุณลักษณะดังกล่าวเหมือนกันทั้งหมด แต่มีความแตกต่างกันไปตามฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม พื้นฐานครอบครัว และช่วงวัยของแต่ละบุคคลด้วย

ชาวดิจิทัลไทยเรียนรู้และพัฒนาทักษะเฉพาะตัวที่ผ่านการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ทั้งทักษะการใช้คอมพิวเตอร์หลากรูปแบบ การจัดการงานได้หลากหลายในคราวเดียวกัน (Multitasking Skills) ทักษะการแสวงหาข้อมูล และทักษะด้านภาษา มีการสร้างรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ที่ไม่ยึดติด พื้นที่การเรียนรู้ถูกขยายขอบเขตทั้งในพื้นที่ทางกายภาพเดิมและพื้นที่บนโลกออนไลน์ พื้นที่ความรู้ในบ้านที่สามารถสร้างได้ผ่านสมาชิกในครอบครัว รวมถึงพื้นที่การเรียนรู้ในฐานะการทำงานสามารถเกิดขึ้นได้ผ่านการปฏิสัมพันธ์กับองค์กรในรูปแบบต่าง ๆ พื้นที่การเรียนรู้ของชาวดิจิทัลไทยจึงมีความหลากหลายเพราะพวกเขาต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะอยู่เสมอแบบไม่หยุดนิ่งและไม่สามารถใช้พื้นที่การเรียนรู้เพียงแหล่งเดียวได้อีกต่อไป

สำหรับภาพอนาคตจากมุมมองของชาวดิจิทัลไทยนั้น เมื่อพื้นที่การเรียนรู้กว้างขวางกว่าในอดีตที่ผ่านมา ทำให้เกิดชุดข้อมูลจำนวนมากผ่านการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ซ้อนทับกันระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์ ชาวดิจิทัลไทยจึงเลือกรับหลักคุณธรรมที่หลากหลายมาปรับใช้โดยไม่ยึดติดเพียงชุดความคิดเดียว มีการตั้งคำถามกับตนเองและสังคม ใช้หลักการตีความหลักคุณธรรมจากความเป็นเหตุเป็นผล การประยุกต์ใช้ ความยืดหยุ่น ความเป็นปัจเจก และความสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม หลักคุณธรรมที่ไม่สอดคล้องกับหลักคิดนี้ ชาวดิจิทัลจะคิดโต้แย้งและปฏิเสธการปฏิบัติตาม หลักคุณธรรมเรื่องความสุจริตยังคงเป็นสิ่งที่ชาวดิจิทัลให้ความสำคัญ ทั้งนี้ ชาวดิจิทัลรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของจิตสาธารณะมากกว่าจิตอาสา สะท้อนถึงความสนใจส่วนบุคคลและเป็นการช่วยเหลือสังคมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน อย่างไรก็ตาม สถาบันครอบครัวยังคงมีบทบาทสำคัญในการขัดเกลาหลักคุณธรรม เช่นเดียวกับสถาบันการศึกษา สื่อดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ ที่มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น

ด้านความกลัว ความฝัน และความหวังนั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจาก 1) ประสบการณ์ตนเอง 2) เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง และเทคโนโลยี 3) ความเชื่อหรือค่านิยมที่มาจากบรรทัดฐานในกลุ่มสังคมของตน ที่เห็นได้ชัดเจนคือค่านิยมเรื่องความกตัญญูกตเวที และ 4) อิทธิพลของระบบทุนนิยมที่ทำให้ชาวดิจิทัลคิดฝันและหวังบนพื้นฐานการใช้ชีวิตตามสภาพความเป็นจริงและประเมินความกลัว ความฝัน และความหวังตามความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ มีการนำแนวทางของหลักเศรษฐกิจเชิงคุณธรรม (Moral Economy) มาปรับใช้กับการดำเนินชีวิต แต่เนื่องด้วยโครงสร้างสังคมไทยและการเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนชาวดิจิทัลให้ทำตามความหวังและความฝันของเขาให้เป็นจริง จึงทำให้กรอบความกลัว ความฝัน และความหวังของชาวดิจิทัลรุ่นใหม่นั้นถูกจำกัดจากโครงสร้าง อย่างไรก็ตามยังพบว่าชาวดิจิทัลรุ่นใหม่ยังมีความเป็น “ผู้กระทำการดิจิทัล (Digital Agency)” ที่ไม่คิดจะยอมจำนนต่อสิ่งที่โครงสร้างสังคมกำหนด แต่พยายามต่อรองและปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้ได้ภายใต้ทรัพยากรที่ตนเองมีอยู่