การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) การศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของหมอลำเรื่องต่อกลอน 2) การออกแบบบริการ (Service Design) เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต และ 3) การศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและการจ้างงานของธุรกิจหมอลำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกกึ่งโครงสร้างเพื่อรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของหมอลำ และการเก็บรวบรวมข้อมูลจากโลกออนไลน์ สัมภาษณ์เชิงลึกเพื่อสร้างบุคลิกลักษณะ (Persona) และเส้นทางการเป็นผู้ชมหมอลำ (Customer Journey) การประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดในการออกแบบบริการ สำหรับการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นมุ่งศึกษาผลกระทบทางตรงและทางอ้อมโดยใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต ทำการสุ่มตัวอย่างธุรกิจที่เกี่ยวข้องแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 100 ตัวอย่าง และสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญจากผู้เข้าชมหมอลำ จำนวน 200 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในเดือนสิงหาคม 2564 ผลการศึกษาพบว่า พัฒนาการของหมอลำสามารถแบ่งออกเป็น 5 ยุค ได้แก่ หมอลำพื้น หมอลำหมู่ ยุคของการปรับตัวให้ทันต่ออิทธิพลภายนอก อุตสาหกรรมธุรกิจบันเทิง และหมอลำออนไลน์และการปรับตัวในช่วงโควิด โดยปัจจัยที่มีผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจหมอลำ ได้แก่ ทุน ภาวะผู้นำของศิลปินผู้ประกอบการ กระแสความนิยมในโลกสังคมออนไลน์ การปรับรูปแบบการแสดง และการปรับรูปแบบการบริหารจัดการและการลดค่าใช้จ่าย ในส่วนของการออกแบบบริการใหม่สำหรับธุรกิจหมอลำ ควรคำนึงถึงการสร้างเอกลักษณ์และสร้างประสบการณ์ใหม่ การประยุกต์ใช้ดิจิทัลและเทคโนโลยี การสร้างศิลปินและบริหารแบบมืออาชีพ การร่วมมือกับศิลปินอื่นหรือธุรกิจอื่น การคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขภาพของนักแสดงและผู้ชม และการบริหารต้นทุน สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจ พบว่า ในสถานการณ์ปกติอุตสาหกรรมหมอลำบันเทิงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภาคอีสานรวมทั้งสิ้น 6,615 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดการจ้างงานทั้งในระบบและนอกระบบรวมทั้งสิ้น 38,835 คน ในช่วงของสถานการณ์ COVID-19 อุตสาหกรรมหมอลำบันเทิงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภาคอีสานรวมทั้งสิ้น 1,153 ล้านบาท เกิดการจ้างงานทั้งในระบบและนอกระบบรวมทั้งสิ้น 6,934 คน