EN/TH
EN/TH
กลุ่มนโยบายสาธารณะและกฎหมาย>ก-ผลของการจัดการการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อธุรกิจ ชุมชน และผู้เยี่ยมเยือน กรณีศึกษาย่านเมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต-กุลดา เพ็ชรวรุณ
ก-ผลของการจัดการการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อธุรกิจ ชุมชน และผู้เยี่ยมเยือน กรณีศึกษาย่านเมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต-กุลดา เพ็ชรวรุณ
ผู้วิจัย : ผศ.ดร. กุลดา เพ็ชรวรุณ   โพสต์ เมื่อ 28 มิถุนายน 2022
จำนวนผู้เข้าชม 207 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 22 ครั้ง

(รายงานฉบับนี้เป็นรายงานเล่มที่ 2 ของโครงการ ผลของการจัดการการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อธุรกิจ ชุมชน และผู้เยี่ยมเยือน)

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นเสาหลักด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ตนำมาซึ่งรายได้และก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมากและต่อเนื่องเป็นเวลานาน การระบาดของโรคโควิด - 19 ได้สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตอย่างหนัก ภาครัฐบาลและภาคเอกชนจึงมีนโยบายสร้างความร่วมมือเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดและปรับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของจังหวัดให้สามารถรองรับสถานการณ์อื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในภายภาคหน้า รวมทั้งมุ่งเน้นการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (responsible tourism: RT ) เป็นหนึ่งในแนวคิดท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) ที่สามารถลดผลกระทบเชิงลบ (minimize negative impacts) ของการท่องเที่ยว และเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ชุมชนและคนท้องถิ่นรวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างช่วยกันลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวและส่งเสริมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนและพื้นที่ท่องเที่ยว จะเห็นได้ว่าการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่จะทำให้แหล่งท่องเที่ยวมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการผลการจัดการการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อธุรกิจ ชุมชน และผู้เยี่ยมเยือน โดยใช้กรณีศึกษาย่านเมืองเก่าจังหวัดภูเก็ต วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วย 1) ประเมินต้นทุน-ผลประโยชน์ส่วนเพิ่มที่เกิดจากการจัดการและ/การดำเนินงานตามแนวทางของการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการท่องเที่ยว 2) ศึกษาปัจจัยที่เป็นสาเหตุในการอธิบายการสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบของคนท้องถิ่นที่พำนักอาศัยย่านเมืองเก่าจังหวัดภูเก็ตที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ 3 ) ค้นหาปัจจัยที่มีอิทธิพลในการกระตุ้นให้ผู้เยี่ยมเยือน (ชาวไทย) มีพฤติกรรมและตัดสินใจเลือกจุดหมายปลายทางที่มีการจัดการและ/การดำเนินงานตามแนวทางการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ 4) เสนอแนะนโยบาย มาตรการ และเครื่องมือ ที่ช่วยกระตุ้นและ/สนับสนุนส่งเสริมการจัดการและ/การดำเนินงานที่เป็นการพัฒนาตามแนวทางการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ

การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาแบบผสมผสาน ระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ โดย การวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นการสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) และสนทนากลุ่ม (Focus Group) ประกอบด้วย ผู้ประกอบการ ผู้นำชุมชน คนในชุมชน และเทศบาลนครภูเก็ต ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารการท่องเที่ยวในย่านเมืองเก่าและการวิจัยเชิงปริมาณเป็นการเก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคนท้องถิ่นและผู้มาเยี่ยมเยือน

ผลการศึกษาพบว่าในการดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบมีต้นทุนส่วนเพิ่มที่ต้องแบกรับและผลตอบแทนสุทธิที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมการดำเนินงานมีมูลค่าเล็กน้อย โดยการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นในระดับผู้ประกอบการ ชุมชน และอปท มีการลงทุนสูงในช่วงแรกในโครงการต่าง ๆ และสามารถสร้างคุณค่าและผลตอบแทนระยะยาวทั้งในรูปแบบที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินซึ่งในที่สุดสามารถสร้างผลประโยชน์ที่มีคุณค่าและมีอัตลักษณ์รวมทั้งสามารถสนับสนุนต่อยอดกิจกรรมของท้องถิ่นนำมาซึ่งการเพิ่มมูลค่าและดึงดูดผู้มาเยือนได้ในอนาคต คนท้องถิ่นในย่านเมืองเก่ามีมุมมองที่ดีต่อการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ มีการรับรู้และมีส่วนร่วมในกิจกรรมการท่องเที่ยวของท้องถิ่นอยู่ในระดับดี มีความพึงพอใจต่อคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นยินดีสนับสนุนกิจกรรมการท่องเที่ยวของท้องถิ่น นอกจากนี้ยังพบว่าชุมชนมีส่วนเข้ามาช่วยในการตัดสินใจต่อการพัฒนารวมทั้งส่งเสริมการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม มรดกทางวัฒนธรรม สร้างประสบการณ์ที่สนุกสนานและเพลิดเพลินให้กับนักท่องเที่ยวโดยการเชื่อมโยงกับประเพณีวัฒนธรรมและสังคมในท้องถิ่น ในกรณีของผู้มาเยือนจากการวิเคราะห์แบบจำลองสมการโครงสร้าง ( Structural Equation Model: SEM) ในกรณีของย่านเมืองเก่าพบว่า “พฤติกรรมที่รับผิดชอบของผู้มาเยี่ยมเยือน” มีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกับการเลือกจุดหมายปลายทาง” ซึ่งหมายความว่า ผู้มาเยือน ที่มีพฤติกรรมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ จะไม่เลือกมาเยือนย่านเมืองเก่า อาจเนื่องมาจากนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวภูเก็ตส่วนใหญ่ต้องการมาเที่ยวทะเล ย่านเมืองเก่าเป็นเพียงหนึ่งหมุดหมายที่ต้องแวะสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย จึงไม่ได้เน้นเกี่ยวกับการร่วมกิจกรรมรวมถึงการคำนึงถึงการลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นมากนัก

ผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษาจะนำไปใช้ประกอบในการให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย มาตรการ และการพัฒนาตามแนวทางการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบที่จะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวและความยั่งยืนของการท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าในอนาคต

คำสำคัญ: การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ, การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน, ย่านเมืองเก่าจังหวัดภูเก็ต