โครงการวิจัยนี้วิเคราะห์รูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมือง โดยมีสมมติฐานว่าพฤติกรรมของคนเมืองจะแตกต่างกันระหว่างเมืองในแต่ละลำดับศักดิ์และในพื้นที่เมืองแต่ละชั้นภูมิ ข้อค้นพบของงานวิจัยนี้ส่วนหนึ่งประมวลมาจากโครงการวิจัยในชุดโครงการ “คนเมืองภูมิภาค 4.0” ประกอบกับผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามระดับครัวเรือน แล้วนำเปรียบเทียบและสังเคราะห์ข้อค้นพบจากการศึกษาชีวิตเมืองในมหานครกรุงเทพในงานวิจัยปีที่ 1 ผลการวิเคราะห์เหล่านี้ได้นำไปใช้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการฉายภาพอนาคตของชีวิตในเมืองหลักของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า
งานวิจัยนี้ได้แสดงให้เห็นภาพความเป็นเมืองจากขอบเขตที่กว้างกว่านิยามเชิงพื้นที่ตามขอบเขตการปกครองที่ใช้กันมาแต่เดิม โดยใช้ดัชนีด้านการบริโภคในการกำหนดขอบเขตของพื้นที่เมืองทั่วประเทศไทย งานวิจัยยังพบว่า เมืองในประเทศไทยมีขนาดและลำดับศักดิ์เปลี่ยนแปลงไปบ้างตามปัจจัยที่ใช้ในการวิเคราะห์ แต่ในภาพรวมยังแทบไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มหานครกรุงเทพยังคงเป็นเมืองโตเดี่ยว และความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ยังคงมีอยู่เช่นเดิม แต่การวิเคราะห์ด้วยข้อมูลระดับเมืองทำให้เห็นความแตกต่างจากเมื่อใช้ข้อมูลระดับจังหวัด
ในภาพรวม ชีวิตเมืองหลักภูมิภาคเป็นไปตามแนวโน้มกรุงเทพภิวัตน์ คือ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครมาก่อน แนวโน้มกลุ่มหนึ่งเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยโดยรวม นับตั้งแต่แนวโน้มสังคมสูงวัย การบรรจบกันของเทคโนโลยีระดับฐานราก เช่น ระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์และชีวสังเคราะห์ ดิจิทัลภิวัตน์ ไปจนถึงปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแนวคิดเสรีนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ แนวโน้มอีกกลุ่มหนึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านความเป็นเมืองโดยเฉพาะ ทั้งชานเมืองภิวัตน์และการพัฒนาพื้นที่กึ่งเมือง และดิจิทัลภิวัตน์ของโครงสร้างพื้นฐานเมือง แนวโน้มเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญในการฉายภาพอนาคตฐานในระยะสั้นและระยะกลางที่มีความไม่แน่นอนต่ำ
ในการสร้างฉากทัศน์ระยะยาว ปัจจัยแรกที่ใช้ในการกำหนดตรรกะฉากทัศน์คือรูปแบบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมือง ซึ่งแบ่งออกเป็นแบบสีน้ำตาลกับแบบสีเขียว ปัจจัยที่สองคือรูปแบบและขอบเขตของเครือข่ายในการใช้ชีวิต ซึ่งแบ่งเป็นแบบยึดติดที่ตั้งกับแบบเชื่อมโยงไร้รอยต่อ เมื่อนำปัจจัยทั้งสองมาไขว้กันแล้ว สามารถสร้างฉากทัศน์ระยะยาวได้ 4 ภาพ โดยภาพที่เป็นอนาคตที่พึงประสงค์จากมุมมองของการใช้ทรัพยากรและการสร้างความมั่งคั่งในอนาคตคือฉากทัศน์ที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวและเครือข่ายการใช้ชีวิตเป็นแบบเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ
งานวิจัยนี้เสนอยุทธศาสตร์หลักสองประการที่มุ่งสร้างภาพอนาคตที่พึงประสงค์ให้กับเมืองหลักในภูมิภาค ยุทธศาสตร์แรกคือการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบสีเขียว ยุทธศาสตร์ที่สองคือการกระจายอำนาจ เพื่อให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถกำหนดนโยบายการวางแผน การลงทุนและการบริหารจัดการเมืองหลักบนเส้นทางที่อาจแตกต่างจากกรุงเทพมหานคร