EN/TH
EN/TH
กลุ่มขับเคลื่อน>ส-การพัฒนากระบวนการเพื่อขับเคลื่อนประชาคมเมืองเชียงใหม่-สุวารี วงค์กองแก์ว และคณะ
ส-การพัฒนากระบวนการเพื่อขับเคลื่อนประชาคมเมืองเชียงใหม่-สุวารี วงค์กองแก์ว และคณะ
ผู้วิจัย : นางสุวารี วงค์กองแก์ว และคณะ   โพสต์ เมื่อ 20 กรกฎาคม 2022
จำนวนผู้เข้าชม 151 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 18 ครั้ง

ภายใต้ความเชื่อว่าประชาคมเมืองที่เข้มแข็งจะมีส่วนในกระบวนการพัฒนาเมืองเชียงใหม่เพื่อไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น งานวิจัยนี้จึงมีเป้าหมายในการหาเครื่องมือเพื่อสนับสนุนประชาคมเข้มแข็ง โดยการวิเคราะห์หาช่องว่างในระดับนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเมืองตามความต้องการของประชาชนและหาเครื่องมือและกลไกที่จะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างรัฐและประชาคมเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่งได้ออกแบบเครื่องมือในงานวิจัยประกอบด้วยการสร้างระบบฐานข้อมูลสำหรับการทำความเข้าใจปัญหาการพัฒนาเมือง กระตุ้นให้ประชาคมเมืองเข้มแข็งขึ้นโดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นร่วมทางสังคมในรูปแบบดิจิตอล สร้างกิจกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนประชาคมกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลทำให้เกิดความเข้มแข็งของประชาคม และสร้างตัวแบบของกระบวนการทำจินตภาพการพัฒนาเมืองเชียงใหม่จากความคิดเห็นของประชาคมเมืองเชียงใหม่เพื่อให้เกิดรูปแบบในการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่อย่างยั่งยืน

ผลการวิจัยพบช่องว่างจากโครงสร้างการทำงานภาครัฐที่ขาดความยืดหยุ่นต่อการรับมือสังคมเมืองที่มีพลวัตรสูง ด้านกลุ่มประชาสังคมเชียงใหม่ส่วนใหญ่เป็นองค์กรขนาดเล็กแต่มีจุดแข็งในการทำงานร่วมกับคนในพื้นที่ทำให้มีศักยภาพที่จะยกระดับสู่การเคลื่อนไหวเพื่อการพัฒนาในระดับเมือง แต่จะขาดเงินทุนและกำลังคนอีกทั้งส่วนใหญ่ไม่มีฐานะนิติบุคคลตามกฎหมายทำให้ไม่มีสถานภาพรองรับหรือไม่สามารถรับงบประมาณสนับสนุนได้ ด้านข้อมูลเมืองเชียงใหม่พบว่าเดิมอยู่ในลักษณะกระจัดกระจายเพราะไม่มีหน่วยงานหลักในการรวบรวมวิเคราะห์และบริหารจัดการระบบฐานข้อมูล จึงขาดการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบายและทำให้การทำงานของทุกภาคีอยู่ภายใต้ภาวะความจำกัดของข้อมูล งานวิจัยนี้ได้จัดทำฐานข้อมูลจำนวน 64 ชุดข้อมูลในระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์พร้อมทั้งได้นำข้อมูลมาแบ่งปันผ่านเฟซบุ้ค “เชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ”แต่ทั้งนี้ พบว่าปัญหาของระบบงานข้อมูลเมืองคือขาดหน่วยงานและบุคลากรที่มีความสามารถและรับผิดชอบในการทำงานด้านข้อมูลโดยตรง ด้านงานแพลตฟอร์มออนไลน์เฟซบุ้ค “เชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ” เป็นพื้นที่กลางที่งานวิจัยใช้สำหรับส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยมุ่งออกแบบเพื่อให้ “การมีส่วนร่วมของประชาชน” เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับรูปแบบและเนื้อหาเพื่อตอบรับกับพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งยังสื่อสารไปถึงกลุ่มคนอย่างกว้างขวางและเป็นเครื่องมือจับคลื่นความคิดและความต้องการของประชาชนต่อการพัฒนาเมืองอีกด้วย แต่ประสิทธิภาพของพื้นที่กลางออนไลน์ยังขึ้นอยู่กับการออกแบบประเด็นเนื้อหาข้อมูลและการออกแบบสื่อ และมีข้อจำกัดในคนบางกลุ่มที่ไม่ชำนาญการใช้เทคโนโลยีหรือมีรายได้จำกัดในการใช้แพลตฟอร์มนี้ รวมทั้งขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะในการทำงานด้านสื่อออนไลน์ รวมทั้งสื่อออนไลน์เป็นสื่อที่มีความอ่อนไหวตามกระแสสูงจนอาจเบี่ยงเบนออกจากข้อเท็จจริงได้ง่าย ด้านแผนจินตภาพเมืองซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำการรวบรวมความคิดของประชาคมเมืองเพื่อนำเสนอออกมาเป็นภาพทางเลือกอนาคตเมืองเชียงใหม่ระหว่างภาพเมืองเชียงใหม่ที่ “กินดีอยู่ดี” และ “ขายม่วนขายหมาน” ที่ประชาคมเมืองอยากให้เป็น ภาพเมืองเชียงใหม่ที่อลหม่าน จากการต่อรองกันระหว่างการพัฒนาที่ทุกฝ่ายต่างคนต่างทำ และภาพเมืองเชียงใหม่ที่มีปัญหารุมเร้าจาก การถูกปล่อยให้พัฒนาไปตามทิศทางการพัฒนาที่ขาดสมดุล ปัญหาในการนำไปปฏิบัติจริงคือขาดกลไกกลางในการทำ “จินตภาพการพัฒนาเมือง” เพื่อจะทำกระบวนการเพื่อให้ประชาคมเมืองเข้มแข็งนี้ กลุ่มประชาสังคมควรมีการรวมกลุ่มกำหนดเป้าหมายการพัฒนาเมืองร่วมกันเพื่อให้เกิดพลังที่เพียงพอต่อการทำข้อเสนอเชิงนโยบายและมีสถานภาพที่แข็งแรงในการเป็นตัวแทนประชาคมเมือง

กระบวนการทั้งในด้านการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเมืองผ่านการแบ่งปันข้อมูล มีพื้นที่กลาง ออนไลน์ที่เปิดให้คนเข้าถึงและแบ่งปันความคิดความคาดหวังต่อการพัฒนาเมือง การทำจินตภาพเมืองเพื่อเป็นตัวแทนความคิดเห็นของคนในเมืองที่มีต่ออนาคตของเมือง รวมทั้งการร่วมมือกันในการปฏิบัติการต่างๆ ในชุมชนในย่าน จะเป็นกระบวนการที่ช่วยให้ประชาคมเมืองเข้มแข็งและมีบทบาทที่เป็นส่วนสำคัญต่อกำหนดทางเลือกการพัฒนาเมืองเพื่อนำไปสู่อนาคตเมืองอย่างที่ประชาคมเมืองคาดหวัง