EN/TH
EN/TH
แนะนำงานวิจัยใหม่>อ-กรณีศึกษาการพัฒนาเปลี่ยนผลงานของมหาวิทยาลัยในประเทศสิงคโปร์-อรอร ภู่เจริญ
อ-กรณีศึกษาการพัฒนาเปลี่ยนผลงานของมหาวิทยาลัยในประเทศสิงคโปร์-อรอร ภู่เจริญ
ผู้วิจัย : ดร. อรอร ภู่เจริญ   โพสต์ เมื่อ 30 มกราคม 2023
จำนวนผู้เข้าชม 163 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 10 ครั้ง

มหาวิทยาลัยคือสถาบัน (institution) สำคัญที่สุดสถาบันหนึ่งที่มีหน้าที่ในการให้การศึกษา เป็นพื้นที่ในการทำวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ทั้งยังเป็นองค์กรที่เป็นมันสมองให้กับสังคมโดยรวม แนวทางการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาในระดับหลักปรัชญา ยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์นั้นมีหลายแนวทาง รายงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลประกอบการตัดสินแนวนโยบายการพัฒนาอุดมศึกษาของไทย เป็นการนำเสนอแนวทางและวิวัฒนาการการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาของสิงคโปร์ โดยเน้นกรณีศึกษามหาวิทยาลัยสองแห่ง ได้แก่ Nanyang Technology University (NTU) และ Singapore University of Technology and Design (SUDT) และแนวนโยบายของรัฐบาล นักวิจัยเก็บข้อมูลโดยการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง สัมภาษณ์ผู้บริหารและคณาจารย์ และไปพื้นที่จริงของทั้งสองมหาวิทยาลัย ข้อค้นพบหลักคือการมีวิสัยทัศน์ที่วิวัฒนาการมาเป็นลำดับจากการมองการศึกษาเพื่อสร้างคนให้ออกมามีงานทำ มาเป็นการศึกษาที่เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจแห่งความรู้ (Knowledge Economy) การออกแบบนโยบายของประเทศสิงคโปร์จะเน้นการวิเคราะห์ทั้งระบบ การมองการณ์ไกล และการใช้องคาพยพของทั้งรัฐบาล (whole of government approach) เช่นการที่กระทรวงที่ดูแลทางอุตสาหกรรมและการพาณิชน์มีส่วนนำในการวางแผนพัฒนาอุดมศึกษา 

ข้อค้นพบเชิงยุทธศาสตร์และกลยุทธ์คือการใช้แนวทาง constructive competition ให้แต่ละมหาวิทยาลัยแข่งกันเอง มีการให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการไปเป็นบริษัทไม่หวังกำไร ให้มหาวิทยาลัยรวมถึงคณะต่างๆ ตั้งและปิดง่าย นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเน้นการไต่อันดับอย่างชัดเจน จึงไม่ลังเลที่จะเน้นการตีพิมพ์และความเป็นนานาชาติ โดยมักจับมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกา มีการวางระบบงบประมาณและทรัพยากรบุคคลให้ไปในทางเดียวกัน คือต้องตีพิมพ์ถึงได้ต่อสัญญาและเป็นคนสัญชาติอะไรก็ได้ 

ที่สำคัญคือสิงคโปร์เห็นอุดมศึกษาของตนว่าเป็นทั้งหน่วยบริการการศึกษา (public service) เพื่อพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกันก็มองเป็นอุตสาหกรรม (industry) ประเภทหนึ่งที่ทำกำไรขาดทุนได้ นับเป็นการผสมผสานเครื่องมือทางนโยบายสาธารณะที่แยบยลและได้ผลภายใต้บริบทของประเทศสิงคโปร์ บทสุดท้ายของรายงานมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้รัฐบาลไทย 9 ประการ ได้แก่ 1) การตั้งเป้าหมายและค่านิยมที่ดี 2) การวางแผนกำลังคนของประเทศ 3) การมองอุดมศึกษาเป็นการลงทุนระยะยาว 4) การนิยามผลงานและเสรีภาพทางการศึกษา 5) การศึกษาบทเรียนมหาวิทยาลัยในกำกับที่ผ่านมา 6) การส่งเสริมการแข่งขันที่สร้างสรรค์ 7) การใช้มาตรฐานนานาชาติและแข่งกับต่างประเทศ 8) การพัฒนาระดับอาชีวะและวิชาชีพ 9) การพัฒนาระบบบริหารมหาวิทยาลัยให้เป็นดิจิทัล