EN/TH
EN/TH
วิจัยการท่องเที่ยว>พฤติกรรม และความต้องการท่องเที่ยวชุมชนผ่านโซเชียลมีเดีย-อรุณี อินทรไพโรจน์ และคณะ
พฤติกรรม และความต้องการท่องเที่ยวชุมชนผ่านโซเชียลมีเดีย-อรุณี อินทรไพโรจน์ และคณะ
ผู้วิจัย : รศ.ดร. อรุณี อินทรไพโรจน์ และคณะ   โพสต์ เมื่อ 24 มีนาคม 2023
จำนวนผู้เข้าชม 320 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 63 ครั้ง

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการท่องเที่ยวชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ 1) ศึกษาพฤติกรรมและความต้องการท่องเที่ยวชุมชนผ่านโซเชียลมีเดีย 2) เพื่อศึกษาเนื้อหาการท่องเที่ยวชุมชนที่สร้างโดยผู้ใช้ (UGC) และ 3) เพื่อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนผ่านโซเชียลมีเดียอย่างยั่งยืน การศึกษาใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ประกอบด้วย การวิเคราะห์ข้อมูลที่สร้างโดยผู้ใช้ (UGC) ที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียโดยใช้เทคนิคการทำเหมืองข้อความ (Text Mining) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ข้อมูลที่ใช้ศึกษามาจาก 2 แหล่งหลัก 1) ข้อมูลจากแหล่งท่องเที่ยวชุมชน จำนวน 21 แห่ง ที่ปรากฎในเว็บไซต์/ โซเชียลมีเดีย 6 ประเภท ได้แก่ สมุดเยี่ยมที่แปลงเป็นสื่อดิจิทัล Twitter เว็บไซต์ของกลุ่มผู้ให้บริการสำรองที่พักเว็บไซต์แนะนำการท่องเที่ยว TripAdvisor และ Google Maps 2) ภาพถ่ายและความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวจากการเข้าร่วมกิจกรรมการประกวดภาพถ่ายโปสการ์ดออนไลน์

ผลการวิเคราะห์คำสำคัญ (Keywords) สามารถแสดงคุณลักษณะสำคัญของแหล่งท่องเที่ยวตามความรู้สึกของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ ผลการวิเคราะห์ความคิดเห็นจะเน้นความคิดเห็นเชิงลบที่ผู้เขียนรีวิวมีต่อแหล่งท่องเที่ยวเพื่อนำสู่การปรับปรุง แก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ความคิดเห็นเชิงลบของแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในภาพรวม ได้แก่ สภาพกายภาพของที่พัก และแหล่งท่องเที่ยว ปัญหาการจองใช้บริการ การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว การเดินทางโดยรถสาธารณะ การขาดข้อมูลและคำอธิบายเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว ราคาแพงและการแบ่งแยกราคา รวมถึงการให้ข้อมูลไม่ตรงกับสิ่งที่เป็นจริง

ผลการศึกษาพฤติกรรมและความต้องการท่องเที่ยวชุมชนผ่านโซเชียลมีเดียพบความแตกต่างระหว่างพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ โดยนักท่องเที่ยวไทยจะสนใจเรื่อง อาหาร การถ่ายรูป การซื้อของ ตัวที่พัก และความเป็นกันเองของผู้คนมากกว่าสภาพแวดล้อมภายนอกที่พัก เช่น ชายหาด ขยะ การใช้พาหนะเพื่อการเดินทาง นักท่องเที่ยวไทยสนใจแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติรวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ตลาดย้อนยุค เมืองจำลอง แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ชอบแหล่งท่องเที่ยวที่ทำเลียนแบบของจริง นักท่องเที่ยวไทยนิยมการให้คะแนนมากกว่าการเขียนแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาทั้งด้านบวกและลบ นักท่องเที่ยวไทยนิยมหาข้อมูล หรือวางแผนการเดินทางโดยอ่านจาก กลุ่มเว็บไซต์แนะนำการท่องเที่ยว เช่น ชิลไปไหน ไปไหนดี เมื่ออ่านแล้วจะไม่มีการรีวิวหรือสอบถาม แต่ใช้การแชร์ข้อมูลในกลุ่มเพื่อน ครอบครัว สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะอ่านจาก TripAdvisor และขอคำปรึกษาจากผู้ที่เคยมีประสบการณ์ นอกจากนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจกิจกรรมบางอย่างเป็นพิเศษ เช่น การเดินป่า ปีนเขา การพูดคุยกับชาวบ้าน การชิมกาแฟสด การดูนก ดูแมลง การกินมะพร้าวอ่อน การการว่ายน้ำ ขณะที่ยังมีเสียงบ่นในเรื่อง แมลง ยุง ขยะ และความไม่เป็นธรรมในการเก็บค่าบริการ สิ่งที่เหมือนกันคือนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติใช้โซเชียลมีเดียในการเดินทาง ทั้งก่อนระหว่าง และหลังการเดินทาง แต่เครื่องมืออาจแตกต่างกัน

สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนผ่านโซเชียลมีเดียอย่างยั่งยืนได้นำเสนอเป็น 2 ระดับ คือระดับผู้รับผิดชอบแหล่งท่องเที่ยว และระดับผู้วางนโยบายการท่องเที่ยวชุมชนในระดับประเทศ