EN/TH
EN/TH
กลุ่มความเชื่อและคุณธรรมศึกษา>สร้างผู้ประกอบการยุคใหม่ในท้องถิ่น เพื่อลดการอพยพเข้าเมือง
สร้างผู้ประกอบการยุคใหม่ในท้องถิ่น เพื่อลดการอพยพเข้าเมือง
โพสต์ เมื่อ 13 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 243 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 0 ครั้ง

การอัพเกรดสมรรถนะให้กับเยาวชนบนพื้นที่สูง มีเป้าหมายเพื่อให้เยาวชนเป็นผู้ประกอบการในท้องถิ่น ที่ไม่ต้องเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ หรือในเมือง และสร้างวิธีคิดใหม่ว่าการเกษตรยุคใหม่ที่ไม่ใช่แค่การผลิตหรือเกี่ยวกับพืชเท่านั้น รวมถึงการตลาดที่ไม่ใช่แค่ตลาดในพื้นที่ อาจรวมถึงตลาดออนไลน์

ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้เกิดเยาวชนที่รักหวงแหนบ้านเกิด เป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ในท้องถิ่น และมีจิตอาสาในการให้บริการสังคม เพื่อให้กลายมาเป็นแกนนำที่มีจิตอาสาร่วมกันพัฒนาชุมชนในอนาคต และลดการอพยพเข้าเมืองของคนรุ่นใหม่


ข้อค้นพบจากการสำรวจคุณลักษณะของเยาวชน พบว่า ร้อยละ 47.10 ของเยาวชนที่ตอบแบบสอบถาม ครัวเรือนมีอาชีพการเกษตร แต่มีเยาวชนเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ที่สนใจประกอบอาชีพเกษตรในอนาคต อย่างไรก็ตามพบว่าเยาวชนร้อยละ 59.71 ของเยาวชนที่ตอบแบบสอบถาม สนใจทำอาชีพการเกษตรเพื่อเป็นรายได้เสริม เช่น เพาะลูกกบ/ลูกปลาดุก เลี้ยงปลาดุก ฯลฯ นอกจากนี้ พบว่า เยาวชนมีทักษะพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งในเรื่องการติดต่อสื่อสาร และการซื้อขายออนไลน์ เช่น เยาวชนร้อยละ 72.10 มี Line ID และร้อยละ 92.42 มี Face book รวมทั้งร้อยละ 58.14 สนใจการซื้อขายผ่านออนไลน์ และร้อยละ 59.19 เคยมีประสบการณ์ซื้อ-ขายออนไลน์

แนวทางการยกระดับสมรรถนะของเยาวชนบนพื้นที่สูง ดำเนินงานผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

1. แนวทางการยกระดับสมรรถนะเชิงดิจิทัล: จัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะและสมรรถนะที่เป็นความรู้ ความสามารถ เชี่ยวชาญ เข้าใจใช้และพัฒนาสื่อดิจิทัล (สืบค้นและใช้งาน สร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นเอกลักษณ์) รวมถึงการสื่อสารและประสานงาน

2. แนวทางการยกระดับสมรรถนะเศรษฐกิจแบบใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์: จัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะและสมรรถนะที่เป็นการวิเคราะห์และสังเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจภายนอกให้สามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจชุมชน

3. แนวทางการยกระดับสมรรถนะเชิงสังคม/วัฒนธรรมไทย: จัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะและสมรรถนะที่นำมาสู่การรักถิ่นฐาน รักบ้านเกิด(อยู่บ้าน) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนที่เป็นทุนสังคม (Social capital) ในการขับเคลื่อนสังคมร่วมกัน และเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน

4. แนวทางการยกระดับสมรรถนะเชิงจิตสาธารณะ: จัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะและสมรรถนะที่กระตุ้นและสร้างจิตสำนึกในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ช่วยเหลือชุมชนและ/สังคม และรู้จักแบ่งปัน


ขั้นตอนการยกระดับสมรรถนะของเยาวชนบนพื้นที่สูง มี 4 ขั้นตอน ดังนี้

1. สำรวจศักยภาพเครือข่ายและความพร้อมของพื้นที่: สำรวจสภาวะแวดล้อม เพื่อประเมินศักยภาพและความพร้อมด้านบุคลากร องค์ความรู้ และสถานที่ ของเครือข่ายและฐานเรียนรู้ต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่น โรงเรียน ชุมชนเกษตร วัด ครัวเรือน สภาชุมชน กลุ่มแม่บ้าน วิสาหกิจชุมชน แกนนำเกษตรกร ฯลฯ รวมถึงเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย

ผลผลิตของขั้นตอนที่ 1 ได้แก่ 1) ฐานเรียนรู้ที่มีศักยภาพและพร้อมดำเนินงาน 2) องค์ความรู้สำหรับออกแบบกิจกรรมฐานเรียนรู้ เช่น ความรู้ด้านการผลิตพืช ปศุสัตว์ ประมง ความรู้ด้านการตลาด เป็นต้น และ 3) เยาวชนกลุ่มเป้าหมาย

2. การพัฒนาและออกแบบกิจกรรม: 1) ประชุมสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง 2) ออกแบบกิจกรรมในฐานเรียนรู้และสร้างตัวชี้วัด 3) วางแผนและปฏิทินการดำเนินงานที่สอดคล้องกับช่วงเวลาที่สะดวกของผู้ที่เกี่ยวข้อง 4) สร้างและเตรียมเครื่องมือ/อุปกรณ์สำหรับดำเนินกิจกรรม และ 5) ประสานงานผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินงาน

ผลผลิตของขั้นตอนที่ 2 ได้แก่ 1) คณะทำงานและผู้มีส่วนร่วม 2) กิจกรรมการยกระดับสมรรถนะเยาวชนพร้อมตัวชี้วัด และ 3) เครื่องมือ/อุปกรณ์สำหรับดำเนินกิจกรรม

3. การดำเนินกิจกรรม: 1) ติดตั้งและทดสอบระบบ พร้อมทั้งประชุมทำความเข้าใจกับทีมดำเนินกิจกรรม และ 2) ดำเนินกิจกรรมตามแผนที่วางไว้

ผลผลิตของขั้นตอนที่ 3 ได้แก่ 1) กระบวนการเรียนรู้ เพื่อยกระดับสมรรถนะเยาวชน 2) กลุ่ม เยาวชนที่ได้รับการยกระดับสมรรถนะ และ 3) ผลผลิตสืบเนื่องจากกิจกรรม เช่น ผลผลิตทางการเกษตร รายได้จากการขายสินค้า เป็นต้น

4. การติดตามและประเมินผล: การติดตามมีเป้าหมายเพื่อ 1) ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ 2) รับฟังปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหา และ 3) ค้นหาองค์ความรู้ หรือกระบวนการเรียนรู้ใหม่ของเยาวชน โดยประยุกต์ใช้แนวทางปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (participatory) และวิธีติดตามที่เหมาะสมกับบริบทของกลุ่มเยาวชน และทำการวัดและประเมินผลสัมฤทธิ์ในทุกฐานและทุกขั้นตอน โดยนำผลได้ตามตัวชี้วัดจากการดำเนินงานมาเทียบกับค่าเป้าหมาย

ผลผลิตของขั้นตอนที่ 4 ได้แก่ 1) เครื่องมือติดตามการดำเนินกิจกรรม 2) แนวทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และ 3) ผลสัมฤทธิ์ที่แสดงถึงทักษะและสมรรถนะที่เพิ่มขึ้น