ก-แนวทางการพัฒนาและการปรับตัวของชาวประมงพื้นบ้านของไทยจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง-กุลภา กุลดิลก และคณะ
ผู้วิจัย : รศ.ดร. กุลภา กุลดิลก และคณะ   โพสต์ เมื่อ 04 กันยายน 2023

ปัจจุบันชาวประมงพื้นบ้านประสบปัญหาในการดำรงชีพในหลายด้าน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทรัพยากรสัตว์น้ำเสื่อมโทรม กฎระเบียบการทำประมงที่เปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าจะมีนโยบายในการส่งเสริมให้สามารถดำรงชีพต่อไปได้ แต่ชาวประมงพื้นบ้านยังคงประสบปัญหาอยู่ การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการศึกษาศักยภาพของกลุ่มชาวประมงในการดำรงชีพ ศึกษาทรัพยากรประมงในปัจจุบันและการปรับตัวของชาวประมงพื้นบ้านเพื่อให้เป็นแนวทางในการพัฒนาประมงพื้นบ้านต่อไป การเก็บรวบรวมข้อมูลได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลักการสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรประมงและสภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเลไทย ได้ศึกษาจากข้อมูลทุติยภูมิและการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลัก จำนวน 14 รายจากจังหวัดในพื้นที่ต่างๆ ในส่วนของการดำรงชีพและการปรับตัวของประมงพื้นบ้านเมื่อทรัพยากรประมงและสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงไป ได้สัมภาษณ์ผู้นำกลุ่มของชาวประมงพื้นบ้านและชาวประมงพื้นบ้าน นักวิชาการและผู้กำหนดนโยบายภาครัฐ รวมทั้งหมด 77 ราย และนำมาวิเคราะห์โดยใช้แนวคิดการดำรงชีพอย่างยั่งยืน (SLF) สำหรับการปรับตัวจะใช้วิธีการวัดระดับการปรับตัวโดยการกำหนดปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับตัวในแต่ละด้าน แนวทางการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนของชาวประมงพื้นบ้านภายใต้การขจัดความยากจนและความมั่นคงทางอาหาร แนวคิดด้านการจัดการอย่างมีส่วนร่วม (Common pool resources) และแนวคิดด้านการปรับตัวอย่างหยืดหยุ่น

ผลการศึกษาพบว่าสถานการณ์ทรัพยากรประมง ทรัพยากรประมงทะเลและชายฝั่ง สิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า ทรัพยากรประมงบริเวณชายฝั่งทะเลมีความเสื่อมโทรมในช่วง 2543-2565 ปริมาณสัตว์น้ำที่จะดับในภาพรวมลดลงตลอดช่วง 21 ปี ในส่วนของแนวปะการังมีความสมบูรณ์ประมาณร้อยละ 50 หญ้าทะเลอยู่ในสภาพสมบูรณ์ร้อยละ 52 แต่ป่าชายเลนมีสภาพลดลงในอดีตแต่ปัจจุบันมีพื้นที่เพิ่มมากขึ้น สิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า ในภาพรวมคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งอยู่ในเกณฑ์ดี แต่พื้นที่อ่าวไทยมีคุณภาพน้ำแย่กว่าพื้นที่อื่นๆ ปรากฎการณ์น้ำเปลี่ยนสีจากการบูมของแพลงตอนเกิดในอ่าวไทยมากกว่าอันดามัน ปริมาณขยะในทะเลมีน้อยลง พื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมีประมาณร้อยละ 26 ของความยาวทะเลชายฝั่ง

การศึกษาการดำรงชีพและการปรับตัวของชาวประมงเมื่อทรัพยากรประมงและสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลง พบว่า ในด้านของการดำรงชีพจากความเพียงพอในทุนต่างๆ ด้านทุนทางกายภาพชาวประมงมีความพร้อมหากอยู่ใกล้เมืองมากกว่าชาวประมงที่อยู่บริเวณเกาะ หรือบริเวณปากแม่น้ำในด้านทุนมนุษย์ชาวประมงมีความพร้อมในด้านความเชี่ยวชาญ และการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสำหรับการทำประมง แต่ขาดทักษะในโอกาสของการปรับเปลี่ยนอาชีพและปรับตัวลำบาก ทุนด้านสังคม พบว่า ชาวประมงมีการรวมกลุ่มกันจัดการด้านทรัพยากรได้ดี หากมีผู้นำที่เข้มแข็งสำหรับทุนธรรมชาติพบความเพียงพอในบางพื้นที่ และบางพื้นที่ทรัพยากรสัตว์น้ำไม่เพียงในการทำประมงเนื่องจากมีการแย่งจับจากจำนวนเรือที่มีมาก อย่างไรก็ตาม ทุนด้านการเงิน พบว่า ทุกพื้นที่ศึกษาประสบปัญหาด้านการเงิน จากรายได้ไม่เพียงพอ ขาดเงินออม และแหล่งเงินทุนส่งผลต่อการปรับตัวของชาวประมง

ผลกระทบและการปรับตัวของชาวประมงพื้นบ้าน โดยผลกระทบของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงหลักที่กระทบชาวประมงพื้นบ้านมากที่สุดคือ ต้นทุนทำประมงสูงขึ้น รองลงมาคือ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน และพื้นที่ทำประมงเสื่อมโทรม ซึ่งพบว่าในส่วนของการปรับตัวด้านต้นทุนทำประมง พบว่า มีเพียงส่วนน้อยที่ปรับตัวโดยการพยายามออกเรือให้คุ้มกับค่าน้ำมัน เพิ่มความยาวอวนมากขึ้น ลดระยะทางในการทำประมง ขายสัตว์น้ำราคาสูงขึ้น ในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ชาวประมงพื้นบ้านสามารถปรับตัวได้ดีโดยการนำแอพพลิเคชั่นการพยากรณ์ GPS มาใช้ในการวางแผนล่วงหน้าในการตัดสินใจออกเรือทำให้ลดต้นทุนและลดความเสี่ยง มีความปลอดภัยมากขึ้น ส่วนการปรับตัวในด้านความเสื่อมโทรมของพื้นที่ทำประมง พบว่า มีการปรับตัวโดยการตั้งกลุ่มอนุรักษ์เพื่อเพิ่มทรัพยากรสัตว์น้ำ เช่น ธนาคารปู บ้านปลา การกำจัดขยะในทะเล

ผลกระทบในด้านกฎหมายประมง และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่า ผลกระทบหลัก ได้แก่ผลกระทบหากมีการกำหนดให้จัดทำบันทึกการประมง การจดทะเบียนเรือและออกใบอนุญาตทำการประมงมาตรา 34 การห้ามมิให้ชาวประมงพื้นบ้านทำประมงนอกเขตชายฝั่ง การกำหนดความยาวของติดตา (อวนจมปู) ลอบหมึก และลอบหมึกสาย การกำหนดสัดส่วนคณะกรรมการประมงจังหวัด มาตรการปิดอ่าว และการประกาศพื้นที่คุ้มครองในในเขตอุทยาน ซึ่งในการปรับตัวชาวประมงพื้นบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับตัวเพราะยังไม่ได้บังคับใช้ หรือไม่มีการตรวจจับที่จริงจัง

แนวทางในการเพิ่มศักยภาพชาวประมงพื้นบ้านในอนาคต ได้แก่ 1) การเพิ่มความสามารถในการปรับตัวโดยการเพิ่มความเพียงพอในด้านทุนการเงินมากที่สุด รองลงมาคือความเพียงพอด้านทุนมนุษย์ทุนด้านสังคม และทุนด้านธรรมชาติ 2) การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการปรับตัวของชาวประมง ได้แก่ การปรับปรุงแก้ไข หรือกำหนดแนวทางสำหรับกฎหมายที่บังคับใช้แล้ว การกำหนดกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้มีสภาพที่ดีขึ้น 3) ด้านการส่งเสริมสนับสนุนทักษะให้กับชาวประมงพื้นบ้าน