EN/TH
EN/TH
เกี่ยวกับเรา>แผนงานคนไทย 4.0
แผนงานวิจัยคนไทย 4.0
หลักการ ที่มา เหตุผล
รัฐบาลปัจจุบันได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ประเทศไทยจะพัฒนาไปเป็นประเทศไทย 4.0 คือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ประมาณการไว้ว่า หากไทยมีอัตราการเจริญเติบโตของผลิตภาพแรงงานอย่างทบต้นประมาณร้อยละ 4- 5 ต่อปี ต้องใช้เวลาถึง 21 – 26 ปี ในการก้าวข้ามไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว นั่นคือไทยจะก้าวข้ามกับดักได้ในระหว่างปี พ.ศ. 2571 – 2576 หากใช้นิยามนี้ คนไทยที่มีชีวิตในช่วงนั้นจะได้ชื่อว่าคนไทย 4.0 ในการศึกษานี้จึงจะกำหนดช่วงเวลาของชีวิตคนไทยยุค 4.0 เป็นคนไทยที่มีชีวิตอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2575 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ตามนิยามของคนไทย 4.0 ของยุทธศาสตร์ชาติ คนไทย 4.0 ต้องเป็นคนที่มีวินัย มีคุณภาพ มีจิตสาธารณะ เป็นคนดี และคนเก่ง สามารถขับเคลื่อนสังคมให้มีความสุขอย่างยั่งยืน
วัตถุประสงค์ของแผนงาน

1) มุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนคนไทย 4.0 ให้มีคุณธรรม มีทักษะชีวิต มีความรู้ มีจินตนาการ คิดเป็น ทำเป็น และความสามารถในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนได้อย่างเหมาะสมและเต็มตามศักยภาพในแต่ละช่วงวัย อยู่ในสังคมร่วมกันอย่างมีความสุข

2) การสร้างเสริมค่านิยมของคนไทยให้มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ มีวินัย จิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคม เคารพในสิทธิและเสรีภาพของกันและกัน

3) สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ สื่อสังคม (Social Media) และใช้เทคโนโลยีอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ด้อยโอกาส

4) ส่งเสริมการวิจัยที่สร้างระบบและกลไก การตรวจสอบการใช้อำนาจอธิปไตยและกฎหมาย เพื่อให้เกิดสังคมที่เคารพกติกา (Culture of Lawfulness) และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

5) การบูรณาการความรู้หลากหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อจัดทำมาตรการที่จะปรับใช้ในกระบวนการเรียนรู้ในบริบทต่างๆ ในยุค Thailand 4.0 ทั้งในสถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว ชุมชน และแหล่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนอื่นๆ รวมถึงการขยายผลในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม

เป้าหมายแผนงาน
เกิดกระแสสังคม 4.0 ที่ยึดมั่นในความดีที่ผลักดันให้เกิดคนไทย 4.0 ที่เก่ง คิดเป็น ทำเป็น มีคุณธรรมครบ 5 ประการ คือ พอเพียง มีวินัย สุจริต มีจิตสาธารณะ และมีความรับผิดชอบ ที่สามารถเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 สู่สังคมที่มีความสุขและความยั่งยืน ซึ่งเป็นผลจากนวัตกรรมวิจัย นวัตกรรมนโยบายสาธารณะและการบริหารจัดการ นวัตกรรมเพื่อสังคม นวัตกรรมการเรียนการสอนจากแผนงานคนไทย 4.0
กรอบการดำเนินการวิจัย
เพื่อสร้างความเข้าใจบนฐานข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการออกนโยบาย กฎหมาย ระเบียบ ทั้งนี้ สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันทั้งสามฝ่ายผ่านการจัดการความรู้ ภาคีราชการ ประกอบด้วย กระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงต่างประเทศและกระทรวงวัฒนธรรม และศูนย์ดำรงธรรม
การเชื่อมโยงการศึกษาระหว่างกลุ่มการศึกษา
การแบ่งกลุ่มการศึกษาออกเป็น 7 กลุ่มนี้ มีเหตุผลมาจากช่วงประมาณ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญผ่านสถาบันหลักทางสังคม คือ บ้าน วัด โรงเรียน ทั้งจากปัจจัยภายในสังคมไทยเอง และปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบอย่างฉับพลันและรุนแรง เช่น เทคโนโลยีป่วนโลก การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นาทางเศรษฐกิจของจีน หรือการเข้ามาของเทคโนโลยีทางการเงิน เป็นต้น ภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ นำไปสู่การเลือกกลุ่มศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับคนไทย 4.0 ได้ทั้งหมด 7 กลุ่มข้างต้น โดยแต่ละกลุ่มการศึกษามีความเชื่อมโยงกัน