EN/TH
EN/TH
กลุ่ม Big data และดัชนีสังคมไทย>พ- รายงานการวิจัยการวิเคราะห์คดีละเมิดด้วยปัญญาประดิษฐ์-พีรพัฒ โชคสุวัฒนสกุล และคณะ
พ- รายงานการวิจัยการวิเคราะห์คดีละเมิดด้วยปัญญาประดิษฐ์-พีรพัฒ โชคสุวัฒนสกุล และคณะ
ผู้วิจัย : ดร.พีรพัฒ โชคสุวัฒนสกุล และ ผศ.ดร.อรรถพล ธำรงรัตนฤทธิ์   โพสต์ เมื่อ 13 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 169 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 10 ครั้ง

งานวิจัยฉบับนี้มีความมุ่งหมายที่จะพัฒนากระบวนการสกัดเอาข้อมูลจากคําพิพากษาเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาอัลกอริทึมปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถทํานายผลต่าง ๆ อันเกี่ยวกับคําพิพากษาในคดีละเมิดโดยอ้างอิงกับคําพิพากษาโดยศาลไทยในอดีต อาทิ บทบัญญัติของกฎหมาย หรือ ผลการตัดสิน เป็นต้น และเพื่อปูรากฐานทางด้านการจัดเตรียมและวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวและพัฒนาอัลกอริทึมสําหรับทํานายคําพิพากษาจากข้อมูลที่เป็นภาษาไทยในคดีต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต คณะวิจัยได้ศึกษาโดยใช้คดีละเมิดซึ่งเป็นหนึ่งในคดีที่มีจํานวนคดีขึ้นสู่ชั้นศาลมากที่สุดเป็นวัตถุในการวิจัย เพื่อทดลองและหาวิธีที่ดีที่สุดในการนําปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการวิเคราะห์และทํานายข้อกฎหมายที่ถูกปรับใช้ในคําพิพากษาของศาลในคดีละเมิดโดยมีวิธีดําเนินการวิจัย เริ่มต้นจากการรวบรวมคําพิพากษาในคดีละเมิดของศาลให้อยู่ในรูปดิจิทัลและสามารถเข้าใจได้โดยเครื่องจักร (machine-readable format) เพื่อให้พร้อมสําหรับการฝึกแบบจําลองปัญญาประดิษฐ์ หลังจากนั้นในขั้นแรก จึงนําข้อมูลที่รวบรวมและจัดเตรียมดังกล่าวมาวิเคราะห์เพื่อสร้างแบบจําลองที่มีความสามารถในการแยกข้อเท็จจริง ได้แก่ คําฟ้อง และคําให้การ ออกจากส่วนอื่น ๆ ของคําพิพากษา หลังจากนั้นจึงนําข้อเท็จจริงดังกล่าวมาทําการวิเคราะห์ในขั้นสุดท้าย คือการทํานายมาตราที่จะสามารถนํามาปรับใช้กับข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ ในกระบวนการดังกล่าวนั้น ในขั้นแรกคณะผู้วิจัยเริ่มจากการทํานายบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคําฟ้องเพียงอย่างเดียว อันเป็นการจําลองสถานการณ์เปรียบเทียบกับการบอกเล่าข้อเท็จจริงจากมุมมองของโจทก์ผู้ซึ่งต้องการนําคดีมาฟ้องสู่ศาล หลังจากนั้นจึงได้นําคําให้การมาพิจารณาร่วมด้วย โดยมีการปรับปรุงแบบจําลองให้มีความสามารถในการทํานายบทกฎหมายที่แม่นยําเพิ่มมากขึ้นตามลําดับขั้น

ผลการวิจัยพบว่า คณะผู้วิจัยได้พัฒนาคลังข้อมูลคําพิพากษาของศาลฎีกา รวมจํานวนคดีทั้งหมด80,654 คดีความ และจัดเก็บในรูปแบบดิจิทัลและมีโครงสร้างที่เครื่องสามารถอ่านและนําไปฝึกโมเดลปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐาน นอกจากนั้นคณะผู้วิจัยได้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในการคัดแยกคําฟ้อง และคําให้การจากบันทึกการตัดสินคดีความศาลฎีกา ซึ่งมีความแม่นยําสูงกว่าร้อยละ 90 อันเป็นรากฐานสําคัญในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถวิเคราะห์คดีความในเชิงลึกต่อไปได้เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของคลังข้อมูลนี้ทั้งระบบ คณะผู้วิจัยยังได้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยในการหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีโดยใช้โมเดล Neural Network และ Deep Learning เพื่อปูพื้นฐานสําหรับการวิจัยในด้านปัญญาประดิษฐ์เชิงนิติศาสตร์ต่อไป