EN/TH
EN/TH
กลุ่มอนาคตศึกษา>ภ- คนเมือง 4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย โครงการย่อยที่ 6 - การตายในเมือง-ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์
ภ- คนเมือง 4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย โครงการย่อยที่ 6 - การตายในเมือง-ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์
ผู้วิจัย : รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์   โพสต์ เมื่อ 13 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 390 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 123 ครั้ง

งานชิ้นนี้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับการตาย ความตาย และการจัดการร่างในสังคมไทยร่วมสมัยผ่านมุมมองเชิงสังคมวิทยา โดยทําการกวาดสัญญาณเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อความเป็นเมืองและการตาย และใช้กรอบแนวคิดอนาคตศึกษามาเป็นเครื่องมือในการเผยภาพของความเป็นไปได้4 รูปแบบที่การตายและการจัดการร่างจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เพื่อเป็นข้อมูลสําหรับการกําหนดยุทธศาสตร์และนโยบายว่าด้วยการตายและการจัดการร่างเพื่อสังคมไทย

ผลการศึกษาเสนอให้พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับการตาย ในฐานะที่เมืองเป็นพื้นที่ทั้งทางกายภาพ พื้นที่ของสาธารณูปโภค สร้างให้เกิดพื้นที่ทางสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความคิดและความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลที่ดํารงชีวิตในเมือง โดยสังคมในมิติของโครงสร้างเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับปัจเจกและเมืองอย่างน่าสนใจ ผ่านตัวแสดงทางอุดมการณ์เชิงสถาบัน เช่น เศรษฐกิจทุนนิยม การเมืองของการกําหนดนโยบายส่งผลให้เกิดสภาวะที่ปัจเจกเลื่อนไหลและเคลื่อนที่อยู่ในเมืองด้วยความเร่งรีบ แข่งขัน ว่างเปล่า โดดเดี่ยว ในขณะที่สังคมเป็นบริบทของชีวิตที่เปราะบาง เสี่ยงภัย และเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากขึ้นเรื่อยๆจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ในนามของความเป็นสมัยใหม่ของเมืองนี้เองที่สังคมได้ค่อยๆคลายความยึดเหนี่ยวจากปทัสถานดั้งเดิม เมืองจึงมีอิทธิพลสูงต่อวิถีการดํารงชีวิตที่เป็นโทษต่อสุขภาวะ ส่งให้ปัจเจกดิ้นรนบนกระแสโดยไร้หลักยึดเกาะ

ในภาพของเมือง ผู้วิจัยฉายภาพให้เห็นถึงการตาย 7 รูปแบบที่เกิดขึ้น ได้แก่ การตายจากการเจ็บป่วยและโรค การตายอย่างโดดเดี่ยว การฆ่าตัวตาย การตายหมู่จากอุบัติเหตุการตายจากฆาตกรรม การตายจากความเสี่ยงทางสังคม และการตายทางเลือก อย่างไรก็ดีผู้วิจัยคาดการณ์ถึงอนาคตของการตายโดยการสร้างฉากทัศน์4 ฉากที่ตั้งอยู่บนแกนที่เป็นตัวแทนของบูรณาการทางสังคมที่เริ่มจากความเป็นปัจเจกนิยมไปสู่ความเป็นชุมชนนิยม และแกนที่เป็นภาพของปัจเจกที่ให้ความสําคัญกับพลังภายในตนที่จะกําหนดเส้นทางการตายของตนเอง เริ่มต้นจากความต้องการที่จะมีชีวิตแบบมนุษยนิยมไปจนถึงอีกขั้วหนึ่งของการข้ามพ้นความเป็นมนุษย์และท้ายสุดเป็นความตั้งใจของผู้วิจัยที่เปิดให้เป็นบทบาทของผู้อ่านว่าจะจินตนาการภาพการตายของตนเองในอนาคตอย่างไร