EN/TH
EN/TH
กลุ่มนโยบายสาธารณะและกฎหมาย>ว- นโยบายสาธารณะและความพึงพอใจในชีวิตของคนไทย 4.0 (ระยะที่ 1)-วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ และคณะ
ว- นโยบายสาธารณะและความพึงพอใจในชีวิตของคนไทย 4.0 (ระยะที่ 1)-วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ และคณะ
ผู้วิจัย : รศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ และคณะ   โพสต์ เมื่อ 13 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 364 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 74 ครั้ง

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการประยุกต์แนวคิดความพึงพอใจในชีวิตเพื่อวิเคราะห์ราคาเงา ของปัจจัยทางสุขภาพ สังคม และทุนทางสังคม และเพื่อสำรวจความพึงพอใจในชีวิตของคนไทย ที่ครอบคลุมปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และบรรทัดฐานทางสังคมในปี 2563 

การวิเคราะห์ “ราคาเงา” โดยการใช้ข้อมูลการสำรวจคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า ราคาเงาของความรู้สึกว่าครอบครัวมีความอบอุ่นมากเท่ากับ 5,839 – 6,255 บาทต่อเดือน หรือ 0.91 - 0.97 เท่าของรายได้ต่อหัว ราคาเงาของความไว้วางใจในชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทุนทางสังคม เท่ากับ 1,906 บาทต่อเดือนหรือ 0.30 เท่าของรายได้ต่อหัว เป็นที่น่าสังเกตว่า คนรุ่น Gen Y ให้มูลค่ากับทุนทางสังคมเหล่านี้สูงกว่าคนรุ่นอื่น ความเสี่ยงทางสังคม เช่น การตกงาน การเจ็บป่วย การที่ราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ มีผลต่อคนรุ่น Baby Boomer มากกว่าคนรุ่นอื่น ราคาเงาของการไม่ประสบกับการตกงาน และการเจ็บป่วย ของคนรุ่น Baby Boomer มีค่า 4,710 บาทและ 3,604 บาทหรือ 0.74 และ 0.57 เท่าของรายได้ต่อหัว การศึกษาด้วยข้อมูลการสำรวจการบริโภคและการออม พบว่า พฤติกรรมเนือยนิ่ง มีผลทางลบต่อความพึงพอใจในชีวิต มีราคาเงาเท่ากับ 4,961 บาทหรือ 0.78 เท่าของรายได้ต่อหัว 

การสำรวจความพึงพอใจในชีวิตของคนไทย ครอบคลุมประชาชนไทยอายุตั้งแต่ 24 – 74 ปี ที่เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลของทุกภาค ผลการเก็บข้อมูลในช่วง 1 พฤษภาคม 2563 – 15 มิถุนายน 2563 ได้จำนวนตัวอย่างทั้งหมด 2,476 ตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในชีวิต จากสเกล 0 – 10 เฉลี่ยเท่ากับ 7.3 โดยตัวอย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความพึงพอใจในชีวิตสูงที่สุด และตัวอย่างในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีความพึงพอใจต่ำที่สุด เหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 นั้นทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกวิตกกังวลมากกว่าปกติ และยังมีผลกระทบทางลบต่อความพึงพอใจในชีวิตมากอีกด้วย คะแนนความเห็นด้วยในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองค่อนข้างต่ำ คนกรุงเทพฯ ปริมณฑล และคนภาคใต้ค่อนข้างเห็นด้วยกับการที่รัฐนำภาษีไปใช้กับการสร้างถนน สร้างสะพานลอย ในขณะที่คนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือค่อนข้างเห็นด้วยกับการที่รัฐนำภาษีเพื่อจัดสวัสดิการสังคม เช่น ประกันสุขภาพ การช่วยเหลือด้านอาชีพ และบำนาญชราภาพ แต่เห็นด้วยน้อยถ้านำเงินภาษีไปใช้จัดบริการรถโดยสารสาธารณะราคาถูก คนส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าการทำบุญตามศาสนา และการให้ทานให้สิ่งของแก่คนอื่นนั้นจะทำให้รู้สึกสบายใจ ส่วนระดับความเห็นด้วยด้านบรรทัดฐานทางสังคมที่สูงที่สุดคือ เรื่องความกตัญญูต่อพ่อแม่และผู้สูงอายุ