EN/TH
EN/TH
ปกิณกะ>แผนงานคนไทย 4.0 คืออะไร?
แผนงานคนไทย 4.0 คืออะไร?
ผู้วิจัย : ศ.เกียรติคุณ ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด   โพสต์ เมื่อ 30 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 257 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 0 ครั้ง


หลายท่านสงสัยว่าแผนงานคนไทย 4.0 คืออะไร? ตั้งขึ้นเพื่ออะไร? หรือมีวัตถุประสงค์อะไร? เพื่อคลายทุกปัญหาที่ยังสงสัย เราจะพาทุกท่านค้นหาคำตอบจาก ศ.เกียรติคุณ ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม คนไทย 4.0 ผ่านบทสัมภาษณ์ 'แผนงานคนไทย 4.0 คืออะไร?'



Q: คนไทย 4.0 คืออะไร?

แผนงานคนไทย 4.0 เป็นแผนงานตามยุทธศาสตร์เป้าหมาย ซึ่งตามยุทธศาสตร์เป้าหมายคำว่าคนไทย 4.0 ก็หมายถึงคนมีวินัย มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ มีความพอเพียง เราก็เลยมาให้คำนิยามว่าคนไทย 4.0 ไม่เพียงแต่เป็นผู้ที่มีคุณธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ที่เท่าทันโลกและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่นับวันยิ่งจะมีความผกผันมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งเกิดจากกระแสหลาย ๆ อย่าง ทั้งภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งเทคโนโลยี แล้วก็การขึ้นมาของคนรุ่นใหม่ เป็นต้น


Q: ในช่วงระยะเวลา 3 ปีของแผนงานคนไทย 4.0 จะมีงานวิจัยเรื่องใดที่น่าสนใจเป็นพิเศษ?

แผนงานเรามีอายุ 3 ปีด้วยกัน ปีนี้ก็เป็นปีที่ 2 ในแผนงานของเราก็จะมีเรือธงเป็นแกนกลางของการศึกษาทั้งหมด เป็นโครงการเรื่องคนเมือง 4.0 ในปีแรกจะมองอนาคตของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเมืองหลวงในประเทศไทย แล้วก็ปีนี้ก็จะมองคนเมืองในภูมิภาค ในปีที่ 3 คาดว่าจะเป็นการศึกษาคนไทยทั้งประเทศเลย เพราะปีนี้เราก็เริ่มจะศึกษาเรื่องอนาคตชาวนาไทย อนาคตเกษตรที่สูง



Q: จากงานวิจัยในปีที่ 1 มีข้อค้นพบใดที่สำคัญ?

สิ่งที่เราได้มาจากปีที่ 1 นี่น่าสนใจ เราพบว่าเวลานี้คนไทยเป็นคนเมืองไปเกือบหมดแล้ว แล้วก็สิ่งที่จะสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศไทยในอนาคต มันจะเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าเมืองดิจิทัลหรือเมืองแพลตฟอร์ม มนุษย์ก็จะเป็นมนุษย์แพลตฟอร์มแล้วก็ความมั่งคั่งที่แต่เดิมสะสมจากการมีที่ดิน ก็จะเปลี่ยนไปเป็นคนที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ ได้ สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องที่เราค้นพบ แต่สิ่งที่ขาดหายไปในเมืองแพลตฟอร์มก็คือ ความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งทำให้เรามีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มคติของการอยู่ร่วมกัน (collectivism) ซึ่งงานชิ้นนี้มีนักวิจัยหลัก คือ รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งหมดนี้ก็เป็นงานในปีที่ 1 ที่เป็นงานหลัก


Q: ปีที่สองมีงานวิจัยใดที่น่าติดตาม?

ปีที่ 2 เราก็จะขยายงานตัวนี้ออกไป แล้วก็จะพยายามขยายงานตัวอื่น ๆ ด้วย เช่น ในปีที่ 1 เราศึกษาเรื่องเกษตรที่สูง ที่จังหวัดน่าน เผอิญว่าปีที่แล้วเราได้ทำนายจากงานศึกษาของเราว่าพืชที่จะเป็นพืชเด่นคือกัญชง ตอนนั้นยังไม่มีใครพูดถึงกัญชา หรือกัญชงเลย มาปีนี้ทุกคนก็พูดถึงกันชงและกัญชากันยกใหญ่ แล้วเราก็เป็นการศึกษางานเดียวที่มีเรื่องต้นทุน-ผลตอบแทน เราก็จะขยายผลงานนี้ต่อไปกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ



งานที่น่าสนใจในปีนี้ก็คิดว่าทุกคนต้องรอคอยแน่ ๆ คือเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนรุ่นใหม่ อันนี้เป็นงานที่ทุกคนคงจะรอแบบใจจดใจจ่อ แล้วก็จะมีงานอื่น ๆ อีกที่จะตามมา เช่น เรามีงานที่ศึกษาเกี่ยวกับ COVID-19 ในเรื่อง Fake news เรื่องปฏิสัมพันธ์ภายในสังคมที่มีคนติดเชื้อ และเรื่องต้นทุนของ COVID-19 ว่าคนไทยคิดว่ามีต้นทุนต่อชีวิตเขาอย่างไร เปรียบเทียบกับมลพิษทางอากาศ ซึ่งงานนี้มีพื้นที่ศึกษาหลักเป็นจังหวัดเชียงใหม่เพื่อดูว่าคนไทยคิดว่ามลพิษทางอากาศของเชียงใหม่เทียบกับ COVID-19 สำหรับเขาแล้วอะไรมีทุนสูงกว่ากัน เป็นต้น อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการวิจัยที่จะหาปัจจัยแฝงคุณลักษณะที่จะทำให้คนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชัน เมื่อก่อนนี้เราก็จะหว่านไปทั่ว โฆษณาไปทั่วให้คนมาต่อต้านคอร์รัปชัน แต่ก็ค้นพบว่าคนที่มาต่อต้านคอร์รัปชันไม่ใช่ทุกคนหรอก เราก็ไปหาปัจจัยตัวแปรซ่อนเร้น (latent variables) เราพบว่าตัวแปรที่ซ่อนเร้นเป็นตัวแปรของความเป็นหญิง คือการโฆษณาแบบเป็นชาย คือไปขู่เขาว่าคอร์รัปชันจะทำให้บ้านเมืองพบกับอะไรแบบนี้คนจะไม่ชอบ คนชอบความเป็นหญิงคือความอ่อนโยน ความละมุนละม่อม เหมือนโฆษณาของพิมรี่พายนั่นแหละ อันนี้ก็เป็นงานของทีมจุฬาคือทีม ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค กับ ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


Q: แผนงานวิจัยนี้ต่างจากแผนงานอื่นอย่างไร?

งานวิจัยในแผนงานนี้ต่างจากแผนงานอื่นในเรื่องของการสร้างคน เราทำสิ่งที่เรียกว่า Coaching ไม่ใช่ Training ที่หมายถึงสอนไปเรื่อย ๆ และสอนแบบเดียวกัน แต่ Coaching หมายความว่าเราจัดให้ตามศักยภาพของนักวิจัยแต่ละคน อันนี้ก็จะเป็นความพิเศษของแผนงานเรา



Q: เป้าหมายหลักของแผนงานคนไทย 4.0 คืออะไร?

เป้าหมายของเราคือสร้างกระแสสังคมที่ไปอภิบาลคนดี หรืออภิบาลสิ่งที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นสังคมต้องเข้าถึงความรู้ก่อน แล้วก็ไปแบ่งปันกัน ตัวนี้จึงเป็นตัวชี้วัดใหม่