โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาและฉายภาพเส้นทางการก้าวเข้าสู่แรงงานสายอาชีพของไทย (Vocational Labor Journey Map) ใน 3 อุตสาหกรรม (อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์) นับตั้งแต่ต้นทางการเริ่มเข้ามาศึกษาในสถาบันการอาชีวศึกษา ไปจนถึงปลายทางการเข้าสู่ตลาดแรงงาน และนำมาวิเคราะห์หาจุดแข็ง คุณลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ตลอดจนช่องว่างทางทักษะของกลุ่มแรงงานสายอาชีพของไทย ทั้งจากมุมมองของตนเอง และมุมมองของผู้ทำธุรกิจจากบริษัท/องค์การภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงปัญหาและอุปสรรคของนักเรียนและแรงงานอาชีวศึกษา วิธีการวิจัยประกอบไปด้วย เทคนิคการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) เป็นการทบทวนวรรณกรรมและศึกษาเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (Literature Review) ที่มีอยู่ทั้งในสังคมตะวันตกและตะวันออก โดยมุ่งเน้นไปที่การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์การวิจัย เพื่อที่ผู้วิจัยจะได้ทราบถึงประเด็นที่อาชีวศึกษาไทยมีความเหมือนหรือแตกต่างจากประเทศอื่น ตลอดจนค้นหาช่องว่างทางวรรณกรรม ทำให้สามารถนำมาศึกษาวิจัยต่อยอดจากความรู้เดิม และสร้างองค์ความรู้ใหม่อันจะเป็นประโยชน์ในวงการวิชาการต่อไป รวมไปถึงการค้นคว้าข้อมูลและสถิติของหน่วยงานภาครัฐในรูปแบบของเอกสารและข้อมูลบนเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการ เพื่อที่จะได้ทราบข้อกำหนดเชิงนโยบายและแนวโน้มในการให้ข้อเสนอแนะที่สอดคล้องกับบริบทของไทย เทคนิคแผนที่เส้นทาง (Journey Map) และเทคนิคการวิจัยทางมานุษยวิทยา (Anthropological Research Techniques) ได้แก่ การสัมภาษณ์ประวัติชีวิต (Life History) การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) ทั้งแบบต่อหน้าหน้า และการสัมภาษณ์ผ่านช่องทางออนไลน์ และเทคนิคการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม (Participant Observation) โดยกลุ่มประชากรที่งานวิจัยนี้ศึกษา ได้แก่ กลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษาและแรงงานอาชีวศึกษาของไทย กลุ่มหัวหน้างาน/นายจ้างผู้ทำธุรกิจใน 3 อุตสาหกรรม และกลุ่มคนรอบข้างแรงงานอาชีวศึกษา ได้แก่ ครอบครัวและชุมชน รวมจำนวนผู้ให้ข้อมูลงานวิจัยทั้งสิ้น 177 คน
จากงานวิจัยทำให้ได้พบผลการศึกษาที่สำคัญ ดังนี้ หนึ่ง ปัจจัยที่มีอิทธิพลให้นักเรียนเลือกเรียนอาชีวศึกษา 8 ประการ ได้แก่ 1) การรู้จักตัวเอง 2) คนรอบตัวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจหรือเป็นแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะครอบครัว 3) โอกาสในการได้งานทำหลังเรียนจบและการคาดการณ์ว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน 4) การหารายได้พิเศษระหว่างเรียน 5) เหตุผลทางด้านเศรษฐกิจและการเงิน 6) การแนะแนวของครูหรือได้รับการประชาสัมพันธ์จากสถาบันอาชีวศึกษา 7) ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของสถาบันอาชีวศึกษา และ 8) บริบทพื้นที่ที่มีความโดดเด่นเกี่ยวข้องกับสาขาที่เรียน สอง การเรียนรู้อย่างมีคุณภาพในมุมมองของนักเรียนอาชีวศึกษา ประกอบไปด้วย 5 ประการ ได้แก่ 1) การได้รับความรู้หรือทักษะที่มีความสำคัญจากการได้มาเรียนในหลักสูตรของอาชีวศึกษา 2) ปัจจัยเชิงกายภาพ/วัตถุ 3) วิธีการเรียนรู้ในอุดมคติของสายอาชีวศึกษานั้นต้องเน้นภาคปฏิบัติ 4) ครูอาชีวศึกษา และ 5) ตัวผู้เรียนเองและสังคมเพื่อนรอบข้าง สาม ช่องว่างทางทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ยังจำเป็นต้องพัฒนาเพิ่มเติม และพบในทุกอุตสาหกรรม คือ ทักษะความรู้เฉพาะทางของสาขา การสื่อสารภาษาต่างประเทศ (โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ) และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สี่ จุดแข็งของแรงงานอาชีวศึกษาไทยมี 2 ระดับ กล่าวคือ ระดับตลาดแรงงานไทย แรงงานอาชีวศึกษามีทั้งความรู้และทักษะในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรง (Hard Skills/Technical Skills) และสมรรถนะที่ไม่ใช่ทักษะอาชีพโดยตรงด้วย (Soft Skills/Non-technical Skills) และสำหรับจุดแข็งในระดับตลาดแรงงานนานาชาตินั้น นอกจากเรื่องทักษะฝีมือเฉพาะทางแล้ว แรงงานอาชีวศึกษาของไทยยังมีบุคลิกหรือคุณลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ที่สามารถสร้างมูลค่าความแตกต่างทางการแข่งขันเมื่อเทียบกับแรงงานชาติอื่น ๆ ได้ ได้แก่ ความคิดในการประยุกต์อย่างสร้างสรรค์ ความอ่อนน้อมถ่อมตนและการไหว้อันเป็นเอกลักษณ์ไทย ความละเอียด/พิถีพิถัน ความเป็นมิตรที่สร้างความรู้สึกอบอุ่น และการเป็นผู้กินอยู่ง่ายและไม่คิดเล็กคิดน้อย ห้า ปัญหาและอุปสรรคในระหว่างการเรียนอาชีวศึกษา ได้แก่ อุปกรณ์ หลักสูตร ครู และตัวนักเรียน ส่วนปัญหาอุปสรรคที่แรงงานอาชีวศึกษาพบในช่วงการทำงาน ได้แก่ ผลกระทบจากภาพลักษณ์ในแง่ลบของอาชีวศึกษา วุฒิการศึกษา ผลกระทบจากนายจ้าง และการปรับตัว หก การพัฒนาแรงงานอาชีวศึกษาไทยพบว่า ในการพัฒนาทักษะ ความรู้ และสมรรถนะของแรงงานให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นต้องเกิดจากความสนใจใฝ่รู้และการเป็นผู้เรียนรู้อยู่เสมอของตัวแรงงานเอง ประกอบกับการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรจากสถานประกอบการและหัวหน้างานที่มีบทบาทร่วมกัน และ เจ็ด ในส่วนของประเด็นด้านภาพลักษณ์อาชีวศึกษา ผู้ให้ข้อมูลในงานวิจัยนี้อยากให้สังคมได้รับรู้ถึงแง่มุมดี ๆ ของอาชีวศึกษาอีกหลายแง่มุมที่ไม่ได้มีเพียงการทะเลาะวิวาทดังในภาพข่าว อาชีวศึกษานั้นไม่ได้เรียนง่ายและไม่ได้ด้อยกว่าสายสามัญ หากแต่อาชีวศึกษาคือสถานที่ที่นักเรียนจำนวนมากได้พัฒนาตัวเองในหลากหลายทักษะที่น่าชื่นชม อาชีวศึกษาคือการเรียนในสิ่งที่ใช้ได้จริง อีกทั้งการเรียนจบอาชีวศึกษาก็สามารถเป็นผู้ประกอบการหรือเติบโตในเส้นทางอาชีพของตนเองได้ และนักเรียน/แรงงานอาชีวศึกษายังทำประโยชน์ให้กับชุมชนได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรพัฒนาต่อไปเพื่อให้อาชีวศึกษามีภาพลักษณ์ที่ดีในสังคม คือ การเพิ่มการประชาสัมพันธ์ความสำเร็จและจุดแข็งของนักเรียนและแรงงานอาชีวศึกษาผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบที่ไม่ใช่แค่ข่าวโทรทัศน์ การพัฒนาสถาบันอาชีวศึกษาให้มีความเฉพาะทางจนมีชื่อเสียงระดับโลก และการสร้างความผูกพันระหว่างอาชีวศึกษากับชุมชน ผ่านการส่งเสริมให้อาชีวศึกษากับชุมชนร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ของตนเอง
สุดท้าย โครงการวิจัยได้อภิปรายผลรวมถึงนำเสนอข้อเสนอแนะแก่รัฐบาล สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาแรงงานอาชีวศึกษาไทย อีกทั้งผลการศึกษาจากโครงการนี้ยังได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ให้กับสังคมไทยในเรื่องภาพลักษณ์อาชีวศึกษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพลักษณ์ในเชิงบวก จุดแข็ง และเอกลักษณ์ของแรงงานอาชีวศึกษาไทย ที่มาจากมุมมองของคนในซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพของอาชีวศึกษาที่รอบด้านมากขึ้น ทั้งในมิติของอดีต ปัจจุบัน และภาพที่มุ่งหวังไปยังอนาคตที่อาชีวศึกษาไทยควรพัฒนาต่อไป