EN/TH
EN/TH
กลุ่ม Big data และดัชนีสังคมไทย>ศ-[เล่ม 2] หมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน-ศิวาพร ฟองทอง และคณะ
ศ-[เล่ม 2] หมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน-ศิวาพร ฟองทอง และคณะ
ผู้วิจัย : ผศ.ดร.ศิวาพร ฟองทอง และคณะ   โพสต์ เมื่อ 06 มิถุนายน 2022
จำนวนผู้เข้าชม 287 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 45 ครั้ง

งานวิจัยนี้ต้องการศึกษาพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพของประชากรหลักกลุ่มชายรักชาย (รวมถึงชายมีเพศสัมพันธ์กับชายและหญิงข้ามเพศ) ในพื้นที่หมอลำ เพื่อหาแนวทางป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ประเด็นความเสี่ยงทางสุขภาพในการวิจัยนี้ประกอบด้วยสองประเด็นคือ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย (ไม่ใช้ถุงยางอนามัย) และการมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราวในช่วงการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ในประเทศไทย การสำรวจทำโดยการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในช่วงวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 – 16 กันยายน 2564 ตัวอย่างเป็นชายรักชายอายุ 18-49 ปี จำนวน 270 คน การสุ่มตัวอย่างเป็นแบบ Respondent Driven Sampling การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและแบบจำลอง Logistic พบว่า ชายรักชายในพื้นที่หมอลำมีความเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยสูงกว่าชายรักชายโดยเฉลี่ยของประเทศ สาเหตุหลักของการไม่ใช้ถุงยางอนามัยของกลุ่มเสี่ยงคือ “การไม่ได้เตรียม” และ “การตั้งใจ” ที่จะไม่ใช้ ปัจจัยด้านความรู้ไม่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมเสี่ยง แต่ทัศนคติเชิงบวกต่อการป้องกันมีอิทธิพลในการลดพฤติกรรมเสี่ยง ปัจจัยด้านการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนมีเพศสัมพันธ์มีผลต่อการมีพฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้นแต่ผลไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ปัจจัยด้านความรู้และทัศนคติไม่มีผลต่อการมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราวลดลงในช่วงการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ปัจจัยเดียวที่มีผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อการลดลงของการมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราวคือ การวิตกกังวลอย่างมากต่อการติดโควิด-19