งานวิจัยเรื่องนี้มุ่งที่จะศึกษาถึง หนึ่ง บทบาทในการพัฒนาการท่องเที่ยวขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็น กรณีศึกษา จำนวน 5 แห่ง และ สอง ความพร้อมในเชิงโครงสร้างพื้นฐานขององค์กรภาครัฐโดยรวม ในพื้นที่อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ โดยใช้วิธีการหลายรูปแบบผสมผสานกัน ทั้งศึกษาจากกฎหมาย เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี แผนพัฒนาสามปีของแต่ละท้องถิ่น สำรวจโดยใช้แบบรวบรวมข้อมูล สัมภาษณ์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งสังเกตการณ์จากการ ลงพื้นที่จริง
จากการศึกษาพบว่า ความเป็นอำเภอชายแดนที่มีแม่น้ำเป็นพรมแดนระหว่างประเทศทำให้มีหน่วยงานภาครัฐระดับส่วนกลางมีสำนักงานตั้งอยู่ใน อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหน่วยราชการที่รับผิดชอบภารกิจด้านความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่ดูแลปัญหาเส้นเขตแดน ลักลอบเข้าเมือง และสินค้าผิดกฎหมาย ทว่ากลับไม่มีหน่วยงานใดที่มีภารกิจด้านการท่องเที่ยวโดยตรงเข้ามาอยู่ในพื้นที่ ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบภารกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานหลักที่จะเอื้อต่อการท่องเที่ยวได้ เช่นในด้านการคมนาคมขนส่งนั้น แทบทั้งหมดเป็นราชการบริหารส่วนกลาง และไม่มีที่ทำการสาขาในพื้นที่ จึงเต็มไปด้วยข้อจำกัดในเชิงบริหารจัดการ เช่น ตอบสนองต่อปัญหาในพื้นที่หรือความต้องการของประชาชนล่าช้า ความซ้ำซ้อนและซ้อนทับทั้งในเชิงพื้นที่และอำนาจหน้าที่ทำให้ขาดเอกภาพ ไม่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน เป็นต้น
ขณะที่ความพร้อมของ อปท.แต่ละแห่งในด้านนี้จะมีมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพัฒนาการ และขนาดพื้นที่รับผิดชอบของ อปท.นั้น ๆ กล่าวคือ อปท.ที่ก่อตั้งมานาน ดูแลพื้นที่ขนาดเล็ก ตลอดจนความหนาแน่นของประชากรสูง ย่อมมีความพร้อมมากกว่า อปท.ที่เพิ่งจะได้รับการยกฐานะ และมีพื้นที่ขนาดกว้างขวางให้ต้องรับผิดชอบ
สิ่งที่งานศึกษาครั้งนี้พบใช้สะท้อนปัญหาภาพรวมในเชิงโครงสร้างของประเทศที่ยังมีลักษณะของ “การรวมศูนย์อำนาจแบบแยกส่วน” (Fragmented Centralism) ได้เป็นอย่างดีผลการศึกษายืนยันเช่นเดิม “ท้องถิ่นมีอำนาจจำกัด”
ปัญหารูปธรรมก็คือ กรณีท่าเรือบั๊ค และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1129 และ 1020 ซึ่งได้นำเสนออยู่ในงานวิจัย แน่นอนว่า
“การกระจายอำนาจ” เพื่อให้ท้องถิ่นมี “ความเป็นอิสระ” ยิ่งขึ้นในทุก ๆ มิติ น่าจะเป็นทางออกของปัญหาเหล่านี้ในระยะยาว