EN/TH
EN/TH
กลุ่มส่องโลกปริทรรศน์>ส-ผลของการมีครอบครัวและบุตรต่อโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้หญิงไทย-สุพรรณิกา ลือชารัศมี และ อนัสปรีย์ ไชยวรรณ
ส-ผลของการมีครอบครัวและบุตรต่อโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้หญิงไทย-สุพรรณิกา ลือชารัศมี และ อนัสปรีย์ ไชยวรรณ
ผู้วิจัย : ผศ.ดร.สุพรรณิกา ลือชารัศมี และ ผศ.ดร.อนัสปรีย์ ไชยวรรณ   โพสต์ เมื่อ 18 กรกฎาคม 2022
จำนวนผู้เข้าชม 349 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 12 ครั้ง

การมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจมีผลโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของประชากร ทั้งผู้ชายและผู้หญิงประสบปัจจัยเสี่ยงในแต่ละช่วงชีวิตที่ลดโอกาสทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจของประชากรทั้งในระยะสั้นและระยะยาวในวัยสูงอายุ โดยปัจจัยเสี่ยงบางส่วนแตกต่างกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิง เนื่องจากปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้หญิงมากที่สุด คือ ปัจจัยด้านการมีครอบครัวและการมีบุตร การศึกษานี้จึงมีเป้าหมายเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของการมีครอบครัวและการมีบุตรต่อการมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้หญิงไทยในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ตลอดจนความเสี่ยงต่อการประสบภาวะความยากจนตลอดช่วงชีวิต รวมทั้งเปรียบเทียบผลกระทบกับกรณีของผู้ชายไทย

การศึกษานี้ใช้ข้อมูลภาพตัดขวางจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2554 และ 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในการวิเคราะห์เปรียบเทียบค่าสถิติของการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน การทำงานทักษะสูงและรายได้ของผู้หญิงและผู้ชายที่มีโครงสร้างครอบครัวแตกต่างกันสี่แบบ ประกอบด้วย (1) โสด/ไม่อยู่กับสามีและไม่มีบุตร (NS-NC) (2) แม่เลี้ยงเดี่ยว (NS-WC) (3) อยู่กับสามีแต่ไม่มีบุตร (WS-NC) (4) อยู่กับสามีและมีบุตร (WS-WC) ตลอดจนเปรียบเทียบความเสี่ยงในการประสบภาวะยากจน ทั้งนี้ การประมาณค่าผลกระทบของการมีครอบครัวและการมีบุตรต่อการมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจนั้น มีปัญหาที่สำคัญคือการเกิดอคติที่เกิดจากการเลือก (Selection bias) ที่ผู้หญิงที่มีความสามารถสูงหรือให้ความสำคัญกับความสำเร็จในอาชีพมีแนวโน้มที่จะเลือกไม่มีบุตรหรือมีบุตรช้า เมื่อผู้หญิงกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะทำงานและมีรายได้สูงกว่าผู้หญิงกลุ่มอื่น ขนาดของผลกระทบที่ประมาณค่าได้จะมีขนาดใหญ่เกินความเป็นจริง การเปรียบเทียบค่าสถิติโดยตรงจึงอาจจะไม่เพียงพอ การศึกษานี้วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้แบบจำลอง Multinomial treatment model โดย Deb (2009) ซึ่งประมาณค่าผลกระทบโดยชดเชยอคติที่เกิดจากการเลือกมีบุตรและอาศัยอยู่กับคู่สมรสแล้ว  

ผลการศึกษาจากค่าสถิติพบว่า ผู้หญิงกลุ่มที่โสดหรือไม่อาศัยอยู่กับคู่สมรส และไม่มีบุตร มีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานสูง ทำงานทักษะสูง รายได้สูง มีความสามารถในการสะสมสินทรัพย์ในวัยทำงานสูง และมีความเสี่ยงที่จะประสบภาวะยากจนต่ำกว่าผู้หญิงกลุ่มอื่น ๆ ทั้งในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นไปจนถึงวัยสูงอายุ กล่าวคือ การอาศัยอยู่กับคู่สมรสหรือการมีบุตรลดการมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจต่อผู้หญิงในระยะยาว ในขณะที่ในกรณีของผู้ชาย ผู้ชายที่อาศัยอยู่กับคู่สมรสมีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมและมีโอกาสในตลาดแรงงานมากกว่าและมีความเสี่ยงที่จะประสบภาวะยากจนต่ำกว่าผู้ชายกลุ่มที่ไม่อาศัยอยู่กับคู่สมรส ผลกระทบของการมีบุตรต่อผู้ชายแตกต่างกันในแต่ละมิติและช่วงอายุ นั่นคือ การมีครอบครัวและการมีบุตรไม่ได้ส่งผลเชิงลบต่อโอกาสในตลาดแรงงานของผู้ชายมากเท่ากรณีของผู้หญิง

เมื่อพิจารณาผลการศึกษาจากแบบจำลอง Multinomial treatment model พบว่า การอาศัยอยู่กับคู่สมรสไม่เพียงแต่ไม่ลดโอกาสที่ผู้หญิงในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นจะเข้าสู่ตลาดแรงงานหรือไม่ลดรายได้ แต่ยังทำให้พวกเขาทำงานมากขึ้นและมีรายได้สูงขึ้นด้วย หากแต่ว่า การมีบุตรอาศัยอยู่ในครัวเรือนลดโอกาสที่ผู้หญิงจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ลดชั่วโมงการทำงานและลดรายได้ลง สำหรับผู้ชายในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ผลกระทบของการมีคู่สมรสและบุตรในครัวเรือนมีความคล้ายคลึงกับผลการศึกษาในกรณีของผู้หญิง ยกเว้นมิติของการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานในกรณีที่ทั้งคู่สมรสและบุตรอยู่ด้วยกันในครัวเรือน (WS-WC) ในขณะที่ผู้หญิงที่อาศัยอยู่กับคู่สมรสและบุตรจะมีโอกาสเข้าร่วมในตลาดแรงงานน้อยกว่ากลุ่มโสด/ไม่อยู่กับสามีและไม่มีบุตร (NS-NC)  ผู้ชายกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะทำงานมากกว่า

จากผลการศึกษาทั้งสองส่วน ความแตกต่างของการมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้หญิงที่มีบุตรเปรียบเทียบกับผู้หญิงที่ไม่มีบุตร หรือของผู้หญิงที่อาศัยอยู่กับคู่สมรสเปรียบเทียบกับผู้หญิงที่โสดหรือไม่อยู่กับคู่สมรสนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยที่สามหรืออคติที่เกิดจากการเลือกมากกว่าภาวะการมีบุตรหรือการอาศัยอยู่กับคู่สมรสโดยตรง โดยปัจจัยที่สำคัญที่สุดจากการศึกษานี้ คือ การศึกษา ผู้หญิงที่อาศัยอยู่กับคู่สมรสหรือมีบุตรคือคนที่มีการศึกษาต่ำ จึงมีโอกาสในตลาดแรงงานลดลงและประสบความยากจนมากขึ้น ดังนั้น ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหลักของการศึกษานี้ คือ ไม่ว่าผู้หญิงจะมีสถานะทางครอบครัวอย่างไร สิ่งที่สำคัญคือการสร้างทุนมนุษย์ผ่านการศึกษาในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้นเพื่อเพิ่มทักษะและโอกาสในตลาดแรงงานต่อไป