EN/TH
EN/TH
กลุ่มอนาคตศึกษา>ภ-คนเมือง 4.0: การจัดการหลังความตายในวิถีเมือง – ร่าง (ศพ) ความทรงจํา บนความเหลื่อมล้ํา-ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์
ภ-คนเมือง 4.0: การจัดการหลังความตายในวิถีเมือง – ร่าง (ศพ) ความทรงจํา บนความเหลื่อมล้ํา-ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์
ผู้วิจัย : รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์   โพสต์ เมื่อ 19 กรกฎาคม 2022
จำนวนผู้เข้าชม 352 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 236 ครั้ง

 การจัดการหลังความตายในประเทศไทยเป็นปฏิบัติการกําลังก้าวเข้าสู่จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงตามกรอบของความเป็นสมัยใหม่ในหลายมิติ ซึ่งเป็นผลจากการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยในระบบโลกความตายและการจัดการหลังความตายซึ่งเคยอยู่ภายใต้การผูกขาดของศาสนา ปัจจุบันได้ถูกปัจจัยเชิงโครงสร้างทางสังคม เช่น ทุนนิยม บริโภคนิยม ความเป็นเมือง เข้ามาแทรกแซง ทําให้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อการจัดการหลังความตายมากขึ้น และส่งผลให้กลไกการจัดการหลังความตายค่อย ๆ ปรับตัว และกลายเป็นสินค้ามากขึ้น

การศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีวิทยาเชิงการตีความ ความตายและการจัดการร่าง (ศพ) ถูกทําความเข้าใจผ่านสิ่งไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นวัตถุ สิ่งของ พื้นที่ ซึ่งมีค่าเป็น artefact ของความตาย 4 กลุ่ม ได้แก่ ร่างหรือศพของผู้เสียชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ วัตถุ-สิ่งของ-เครื่องประกอบพิธี และสถานที่จัดการหลังความตาย รวมทั้งศึกษาผ่านผู้กระทําการ ที่บอกเล่าเรื่องราว ที่คลี่ให้เห็นถึงอุดมการณ์ ปฏิบัติการ ที่ถูกสถาปนาขึ้นอย่างซับซ้อน

  1. การจัดการหลังความตาย หมายถึง การจัดการใน 5 ด้าน ได้แก่ การจัดการกับร่าง (ศพ) การจัดการกับอารมณ์ความรู้สึก การจัดการทางสังคมและวัฒนธรรม การจัดการทางเศรษฐกิจและกฎหมาย และการจัดการการดํารงอยู่ในโลกดิจิทัล
  2. การจัดการร่าง (ศพ) เป็นมิติที่สําคัญและมีรูปธรรมในการจัดการมากที่สุด
  3. การจัดการร่าง (ศพ) เริ่มต้นจากการสร้างกรอบในการจําแนกและจัดประเภทของร่าง (ศพ)
  4. สังคมไทยมีกระบวนการในการจําแนกร่าง (ศพ) ออกเป็นลักษณะต่าง ๆ อย่างซับซ้อน การจําแนกนี้ส่งผลต่อปฏิบัติการจัดการหลังความตายด้านอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา
  5. ร่าง (ศพ) มีความเป็นศูนย์กลางต่อปฏิบัติการจัดการหลังความตาย
  6. พิธีกรรมต่าง ๆ ทําให้ร่าง (ศพ) มีอํานาจทุติยภูมิ – อํานาจของสิ่งไม่มีชีวิตที่ทําให้เกิดปฏิบัติการทางสังคมและเครือข่ายความสัมพันธ์ เท่ากับร่าง (ศพ) ได้แปลงสถานะจากการเป็นวัตถุ ทําให้ร่าง (ศพ) มีวัตถุสภาพ หรือความเป็นประธานต่อการตาย หมายถึงสามารถกําหนดให้ความตายมีความหมายอย่างหนึ่งอย่างใดได้
  7. ร่าง (ศพ) ถูกจัดการเพื่อวัตถุประสงค์หลัก ๆ ได้แก่ การตายที่ดีและการไปสู่สุขคติตามความเชื่อและที่น่าสนใจคือการประกอบสร้างความหมายใหม่ เพื่อแก้ไขความหมายของการตาย หรือเพื่อทําให้ความตายมีความหมายที่แตกต่างออกไป เช่น กรณีการตายผิดธรรมชาติที่ต้องได้รับการแก้ไขความหมายใหม่ผ่านพิธีกรรม และให้ความหมายในเชิงยกย่องในกรณีการบริจาคร่าง (ศพ) เพื่อการศึกษาและบริจาคอวัยวะ เป็นต้น
  8. พิธีกรรมศพ เป็นทั้งปฏิบัติการทางสังคมและเป็นพื้นที่ชนิดหนึ่ง ที่สร้างให้เกิดอุปสงค์และอุปทานในการจัดการหลังความตาย
  9. พิธีกรรม ถูกทําให้ยืดออกไป สร้างขึ้นใหม่ เพื่อเปิดพื้นที่ในการบริโภคให้กว้างและกินเวลามากขึ้น มีวัตถุ สิ่งของ และบริการจํานวนไม่น้อยถูกนํามาเป็นทางเลือกให้แก่เจ้าภาพ พิธีกรรมงานศพไทยจึงมีเป้าหมายเป็นพิธีกรรมมากกว่าพิธีธรรม
  10. สังคมไทยกําลังก้าวเข้าสู่กระบวนการการทําให้ความตายและการจัดการหลังความตายกลายเป็นสินค้าและบริการ ดังนั้นปฏิบัติการต่าง ๆ จึงมีราคาที่ต้องจ่าย
  11. สินค้าและบริการเกี่ยวกับความตายยังไม่เป็นตลาดที่กว้าง แต่เป็นการแตกยอดและปรับตัวของผู้กระทําการดั้งเดิม เช่น วัด และสัปเหร่อ มากกว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจนายทุน หรือคนรุ่นใหม่ start-up จึงไม่มีนวัตกรรมใหม่เป็นทางเลือก
  12. อย่างไรก็ดี การจัดการหลังความตายในเชิงพื้นที่ของการกําจัดร่าง (ศพ) โดยเฉพาะสุสาน ฮวงซุ้ยป่าช้า จะถูกบีบคั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการเติบโตของเมืองที่ทําให้ที่ดินเป็นสินค้าที่มีจํากัด และจากความหนาแน่นของศพที่สะสมมานาน ตลอดจนการขาดการบริหารจัดการที่ยั่งยืน ทําให้พื้นที่การฝังศพในสังคมไทยกําลังจะถึงจุดวิกฤต
  13. ทางออกของปัญหา คือ การบริหารจัดการสุสานแนวใหม่ ที่ทําให้สุสานเปลี่ยนความหมายจากพื้นที่สาธารณะที่สามารถมาใช้ประโยชน์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย มาเป็นพื้นที่เช่าระยะยาว โดยค่าเช่าเป็นความรับผิดชอบของครอบครัวผู้วายชนม์ และการเปลี่ยนทัศนคติของการกําจัดร่าง (ศพ) จากวิธีฝังเป็นวิธีเผา เป็นต้น
  14. การกําจัดร่าง (ศพ) ด้วยการเผาศพ เป็นวิธีกําจัดร่าง (ศพ) ที่ใช้เป็นหลักในประเทศไทย ซึ่งกําลังสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึง
  15. สถานการณ์การจัดการร่าง (ศพ) ในยุค COVID เป็นจุดเริ่มต้นของการนําเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมศพในสังคมไทย