EN/TH
EN/TH
กลุ่มนโยบายสาธารณะและกฎหมาย>น-การพัฒนารูปแบบการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ชุมชนเมืองแออัด ในประเทศไทย: การมีส่วนร่วมของชุมชน (ระยะที่ 2)-นงเยาว์ เกษตร์ภิบาล และคณะ
น-การพัฒนารูปแบบการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ชุมชนเมืองแออัด ในประเทศไทย: การมีส่วนร่วมของชุมชน (ระยะที่ 2)-นงเยาว์ เกษตร์ภิบาล และคณะ
ผู้วิจัย : ศาสตราจารย์ ดร.นงเยาว์ เกษตร์ภิบาล และคณะ   โพสต์ เมื่อ 13 มกราคม 2023
จำนวนผู้เข้าชม 172 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 3 ครั้ง

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทำนายและพัฒนารูปแบบการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ชุมชนเมืองแออัดในกรุงเทพมหานครและเชียงใหม่ กลุ่มตัวอย่างการศึกษาเชิงปริมาณ 1,996 คน และการศึกษาเชิงคุณภาพเพื่อถอดบทเรียนรูปแบบที่ดีในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ในชุมชนเมืองแออัด ดำเนินการโดยสนทนากลุ่ม 124 คน และสัมภาษณ์เชิงลึก 85 คน สำหรับการทดสอบความเป็นไปได้ของรูปแบบที่พัฒนาขึ้นดำเนินการโดยสนทนากลุ่ม 120 คน ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ถึงธันวาคม พ.ศ. 2565 วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาการวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้าง และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา

ผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยทำนายการปฏิบัติการป้องกันโรคโควิด-19 ของกลุ่มตัวอย่างต่อบุคคลทั่วไปและบุคคลใกล้ชิด ประกอบด้วย บริบทแวดล้อม ประสิทธิภาพการสื่อสารของรัฐบาล การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสาร ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคโควิด-19 ทัศนคติต่อผลที่เกิดจากการมีผู้ติดเชื้อหรือถูกกักกัน การได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มากกว่า 2 เข็ม ความเข้มแข็งของชุมชน และสุขภาพจิต จากการถอดบทเรียนและการทดสอบความเป็นไปได้พบว่า รูปแบบที่ดีในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ของชุมชนเมืองแออัดในประเทศไทยตามแนวคิด CIPP Model ประกอบด้วยบริบท: มีทุนชุมชนและทุนจากภายนอก ปัจจัยนำเข้า: มีงบประมาณเพียงพอ มีทีมหลักในการทำงาน มีอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อที่เพียงพอ และมีระบบช่วยเหลือสนับสนุน กระบวนการ: สร้างกลุ่มคนของชุมชนทำงานในพื้นที่ เปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วม สร้างค่านิยมร่วมกัน มีบริหารจัดการเชิงพื้นที่ที่ดี และมีแผนสำรองเสมอ และผลลัพธ์: ควบคุมโรคระบาดได้ มีทีมเชิงรุกของชุมชน มีความกลมเกลียวสามัคคีของชุมชน เกิดค่านิยมร่วมเกี่ยวกับความปลอดภัย ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีฐานข้อมูลผู้ติดเชื้อในชุมชนเบื้องต้น และมีระบบบริหารจัดการที่ดี โดยคำนึงถึงช่วงเวลาของการระบาดในชุมชน ความชัดเจน และความรวดเร็วในการดำเนินการ

ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายควรสร้างความเข้มแข็งของชุมชนที่เอื้อต่อการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 จัดทำระบบฐานข้อมูลชุมชน สร้าง ธำรงรักษา และพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครในชุมชน ได้แก่ อสส. อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) สร้างบริบทแวดล้อมที่เอื้อต่อการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 สร้างภาคีเครือข่ายภายในและภายนอกชุมชนในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 การสื่อสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ โดยเน้นการสื่อสารผ่านบุคลากรสุขภาพ อสส./อสม. สื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ซึ่งการสื่อสารต้องมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ ชัดเจน สั้นกระชับได้ใจความ สื่อสารตรงกัน โปร่งใส และรวดเร็วทันเวลานอกจากนี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสม รวมถึงมีการประเมินและติดตามสุขภาพจิตของคนในชุมชนเมืองแออัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย