EN/TH
EN/TH
กลุ่มส่องโลกปริทรรศน์>อ-ปัจจัยลักษณะครัวเรือนที่ส่งผลต่อรูปแบบค่าใช้จ่ายการพนัน แอลกอฮอล์ และยาสูบ-อนัสปรีย์ ไชยวรรณ และสุพรรณิกา ลือชารัศมี
อ-ปัจจัยลักษณะครัวเรือนที่ส่งผลต่อรูปแบบค่าใช้จ่ายการพนัน แอลกอฮอล์ และยาสูบ-อนัสปรีย์ ไชยวรรณ และสุพรรณิกา ลือชารัศมี
ผู้วิจัย : รศ.ดร. อนัสปรีย์ ไชยวรรณ และ ผศ.ดร.สุพรรณิกา ลือชารัศมี   โพสต์ เมื่อ 29 สิงหาคม 2023
จำนวนผู้เข้าชม 409 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 9 ครั้ง

พฤติกรรมครัวเรือนไทยที่ส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพ ได้แก่ ปัญหาการพนัน ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปัญหาการสูบยาสูบนั้นนำไปสู่การลดทอนคุณภาพชีวิตและก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายต่อสังคมเพิ่มมากขึ้นและกระทบต่อสวัสดิการทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ดังนั้นการศึกษาเพื่อทราบถึงรูปแบบการใช้จ่ายในเรื่องอบายมุขของครัวเรือน จึงมีความสำคัญทำให้ทราบถึงสถานการณ์การบริโภคอบายมุขที่อาจส่งผลให้เกิดความเปราะบางของครัวเรือนไทย

การศึกษารูปแบบการใช้จ่ายในเรื่องอบายมุขของกลุ่มครัวเรือนตัวอย่าง การวิเคราะห์เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายอบายมุขและแนวโน้มการใช้จ่ายอบายมุขของครัวเรือนที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจนและครัวเรือนที่อยู่เหนือเส้นความยากจนและแนวโน้มการใช้จ่าย โดยการศึกษาใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2554 2558 และ 2562 ผลการศึกษาพบว่า ในปี 2562 ครัวเรือนที่ไม่มีค่าใช้จ่ายอบายมุขมีสัดส่วนสูงที่สุด รองลงมา เป็นครัวเรือนที่มีค่าใช้จ่ายด้านการพนันเพียงอย่างเดียว และครัวเรือนที่มีค่าใช้จ่ายอบายมุขมากกว่า 1 ด้าน โดยในกลุ่มครัวเรือนที่มีค่าใช้จ่ายอบายมุขมากกว่า 1 ด้านนั้น ครัวเรือนในสัดส่วนที่มากจะมีค่าใช้จ่ายด้านการพนันสูงกว่ารายจ่ายแอลกอฮอล์หรือยาสูบ ในส่วนของแนวโน้มการใช้จ่ายอบายมุขของครัวเรือนไทย พบว่าครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายอบายมุขสูงขึ้นร้อยละ 13.96 ในช่วงปี 2554 – 2558 แต่ลดลงร้อยร้อยละ 0.19 ในช่วงปี 2558 – 2562 และในช่วง 4 ปีนี้ ครัวเรือนที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายการพนันสูงที่มีพฤติกรรมการบริโภคอบายมุขมากกว่า 1 ด้าน จะมีแนวโน้มที่จะมีค่าใช้จ่ายอบายมุขเพิ่มขึ้นมากกว่าครัวเรือนที่มีรูปแบบการใช้จ่ายในเรื่องอบายมุขอื่น ๆ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.71

เมื่อศึกษาเปรียบเทียบการใช้จ่ายอบายมุขของครัวเรือนไม่ยากจนและครัวเรือนยากจน พบว่า พฤติกรรมการบริโภคอบายมุขของครัวเรือนแตกต่างกัน ในขณะที่การใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในการเล่นการพนันไม่แตกต่างกันมากนักระหว่างครัวเรือนที่ยากจนและครัวเรือนที่ไม่ยากจน แต่การใช้จ่ายในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบกลับแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนที่ยากจนมีค่าใช้จ่ายด้านการพนันคิดเป็นสัดส่วนที่มากกว่าแอลกอฮอล์และยาสูบ นอกจากนี้ การใช้จ่ายด้านการพนันของครัวเรือนยากจนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าครัวเรือนไม่ยากจนมากในช่วงระยะ 2558 ถึง 2562

นอกจากนี้ การศึกษานี้การศึกษานี้ได้วิเคราะห์รูปแบบการใช้จ่ายด้านการพนัน แอลกอฮอล์และยาสูบ โดยวิธีการแบ่งกลุ่มคลัสเตอร์แบบเคมีน และศึกษาปัจจัยลักษณะครัวเรือนที่ส่งผลต่อรูปแบบค่าใช้จ่ายในแต่ละคลัสเตอร์โดยใช้แบบจำลองมัลติโนเมียลโพรบิท ผลการวิจัยแบ่งครัวเรือนออกเป็น 8 คลัสเตอร์ โดยคลัสเตอร์ที่ใหญ่ที่สุด คือ คลัสเตอร์ครัวเรือนที่ไม่มีค่าใช้จ่ายอบายมุขหรือมีค่าใช้จ่ายต่ำมากทั้งสามมิติ คิดเป็นร้อยละ 42 ของครัวเรือนทั้งหมด รองลงมาคือคลัสเตอร์ครัวเรือนที่มีค่าใช้จ่ายการพนันเพียงอย่างเดียว คิดเป็นร้อยละ 33 โดยคลัสเตอร์อื่น ๆ มีขนาดเล็กกว่ามาก แสดงให้เห็นว่าการพนันเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศไทย ลักษณะครัวเรือนที่เกี่ยวข้องกับการพนันแอลกอฮอล์ และการใช้ยาสูบจะแตกต่างกันไปตามประเภทของอบายมุข โดยครัวเรือนที่มีสัดส่วนผู้ใหญ่ชายสูงและรายได้สูงและไม่มีสมาชิกครัวเรือนที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจะมีแนวโน้มที่จะมีค่าใช้จ่ายด้านการพนัน แอลกอฮอล์ หรือยาสูบอย่างน้อยหนึ่งมิติ ปัญหาการพนันเป็นที่แพร่หลายมากที่สุดในครัวเรือนที่มีรายได้สูง มีสัดส่วนสมาชิกครัวเรือนเพศหญิงมาก อาศัยอยู่ในเขตเมือง โดยระดับการศึกษาไม่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านการพนัน การใช้แอลกอฮอล์กระจุกตัวในครัวเรือนที่มีผู้ชายที่ไม่อยู่ในวัยสูงอายุในทุกระดับการศึกษา ระดับรายได้ และภูมิภาค ยกเว้นภาคใต้ การใช้ยาสูบกระจุกตัวในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท โดยมีสัดส่วนสมาชิกเพศชายสูงและมีการศึกษาต่ำ

การศึกษาเสนอนัยเชิงนโยบายที่สำคัญของประเทศไทย ครัวเรือนโดยเฉพาะครัวเรือนยากจนมีการใช้จ่ายการพนันสูงใกล้เคียงกับครัวเรือนไม่ยากจนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นควรให้ติดตามและแก้ไขปัญหาการพนัน อีกทั้งสมาชิกครัวเรือนที่เป็นเพศชายมีพฤติกรรมการใช้จ่ายการพนัน จะมีการบริโภคแอลกอฮอล์และยาสูบร่วมด้วยมากกว่าเพศหญิง ปัญหาการพนันจึงอาจส่งให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคสารเสพติดเป็นโทษต่อร่างกายร่วมด้วย จึงควรให้ความสำคัญในการให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของพฤติกรรมดังกล่าว และการศึกษาในอนาคตจำเป็นที่ต้องศึกษาถึงแรงจูงใจของพฤติกรรมดังกล่าว