ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจากการประมาณการในปี พ.ศ. 2563 พบว่า ในประเทศไทยมีผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีมากกว่า 500,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 6,600 คน และประมาณ 12,000 คน เสียชีวิตจากภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือกลุ่มอาการเอดส์ นับตั้งแต่มีการพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายแรกในประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2527 ประเทศไทยได้มีการใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อยุติปัญหาเอดส์มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้บรรจุสิทธิประโยชน์การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์หรือ “บัตรทอง ” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถเข้าถึงการรักษาและบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมและมีจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ลดลง อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อเอชไอวียังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศโดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเสี่ยง การที่จะบรรลุเป้าหมายในการยุติปัญหาเอดส์ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2573 จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินงานที่มีประสิทธิผลด้วยชุดป้องกันผสมผสานขยายชุดบริการเชิงรุกที่ต่อเนื่องให้ครอบคลุมประชากรที่มีความเสี่ยงสูงและในพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาด ตลอดจนการสร้างความร่วมมือและรณรงค์ให้ประชาชนมีความตระหนักในการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ
ยาป้องกันการติดเชื้อก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวีหรือเพร็พ (PrEP) ประกอบด้วยยาต้านไวรัส 2 ชนิดได้แก่ ยาเอ็มไทไซตาบีน ( FTC) 200 มิลลิกรัม และยาทีโนโฟเวียร์ (TDF) 300 มิลลิกรัม เป็นอีกหนึ่งมาตรการในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีโดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเสี่ยงที่ได้บรรจุไว้เป็นแนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 และบรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 บทความนี้จะวิเคราะห์สถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย การดำเนินงานการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัส ( HIV Pre-exposure prophylaxis; PrEP) ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บทบาทขององค์กรภาคประชาสังคม (Key Population Led Health Service; KPLHS) ในการให้บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัส โดยในตอนท้ายจะอภิปรายสรุปปัญหา อุปสรรคและนำเสนอแนวทางในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในการขจัดการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย