EN/TH
EN/TH
กลุ่มนโยบายสาธารณะและกฎหมาย>น-แพลตฟอร์มนโยบายข้าวและผักผลไม้ไทย-นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ
น-แพลตฟอร์มนโยบายข้าวและผักผลไม้ไทย-นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ
ผู้วิจัย : รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ   โพสต์ เมื่อ 10 ตุลาคม 2023
จำนวนผู้เข้าชม 159 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 30 ครั้ง

การศึกษาในโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานโยบายและระบบวิจัยพันธุ์ การรับรองพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตร (หรือระบบเกษตรและอาหาร) รวมถึงการรวมกลุ่มเกษตรกรข้าวผักและผลไม้ อาศัยการวิเคราะห์จากกฎหมาย การทบทวนงานวิจัยในอดีต การสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง ประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่/ผู้บริหารของภาครัฐ (กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยข้าว อบต. ฯลฯ) ภาคเอกชน (บริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ บริษัทร้านค้าสมัยใหม่ โรงสี โรงรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร) ภาควิชาการ (อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการ) สมาคม (สมาคมทุเรียนใต้ สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย ฯลฯ) และเกษตรกร

ปัญหาของนโยบายและระบบวิจัยพันธุ์ข้าว คือ พันธุ์ข้าวไทยไม่ตอบโจทย์ชาวนา (ผลผลิต/ไร่ต่ำกว่าพันธุ์ต่างประเทศ อายุยาวกว่า ทำให้เสี่ยงกับภาวะน้ำท่วมปลายปี) และผู้บริโภคเริ่มหันมานิยมข้าวพื้นนุ่มแทนข้าวพื้นแข็ง) รวมไปถึงการถูกแทรกแซงโดยพันธุ์ข้าวเวียดนาม ส่วนหนึ่งเกิดจากการลดงบประมาณวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวของกรมการข้าวเหลือ 120 ล้านบาท/ปี ทุนวิจัยเป็นรายปี ไม่ใช่ Program (ทำให้ขาดความต่อเนื่อง) และการตั้งศูนย์วิจัยมากเกินจำเป็นทำให้ขาดประสิทธิภาพในการบริหาร

ในขณะที่ แม้พันธุ์ทุเรียนจันทบุรี 1–10 จะเป็นตัวอย่างความสำเร็จของกรมวิชาการเกษตรในการวิจัยพันธุ์ผลไม้ แต่ระบบข้าราชการยังขาดการส่งเสริมการนำพันธุ์ทุเรียนที่ได้ไปปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมอย่างเป็นระบบ ไม่มีข้อมูลสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่เหมาะสม (Ecosystem) สำหรับทุเรียนแต่ละพันธุ์ การปรับปรุงพันธุ์พืชให้เหมือนกันทั่วประเทศ (uniform) โดยละเลยข้อเท็จจริงเรื่องพืชที่นำไปปลูกในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน จะมีรสชาติและคุณลักษณะบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ โครงสร้างของห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตรเกิดการเปลี่ยนแปลง suppliers/supermarkets ขนาดใหญ่รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรง ทำให้บทบาทของพ่อค้าคนกลางในพื้นที่ชนบทลดลง รวมถึงการประกาศปริมาณผลผลิตที่ต้องการล่วงหน้าโดยร้านค้า (หรือ supplier) เพื่อให้เกษตรกรวางแผนการผลิต ผลผลิตจึงเพียงพอ/ใกล้เคียงกับความต้องการของตลาด (ตัวอย่างเช่น กลุ่มโนนเขวาส่งขายแก่ Lotus)

และปัจจุบัน การรวมกลุ่มเกษตรกรมีวัตถุประสงค์หลากหลายอย่าง อาทิ การรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มราคาจำหน่ายและรายได้ (scale ใหญ่ขึ้น) โดยการแปรรูปหรือการผลิตสินค้าเกษตรตลาดเฉพาะ (niche market) เช่น ข้าวสุขภาพน้ำตาลต่ำ การรวมกลุ่มจากการสนับสนุนของโรงสีเพื่อผลิตข้าวคุณภาพสูง ลดต้นทุน เช่น โครงการหงษ์ทองนาหยอด รวมกลุ่มเพื่อใช้ลดต้นทุนการผลิต โดยใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีร่วมกัน เช่น สหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วง หรือแม้แต่การรวมกลุ่มเพื่อสร้างรายได้ให้สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นทำกิจกรรมการท่องเที่ยว ร้านอาหาร ร้านกาแฟ (ส่วนใหญ่อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว เช่น นครปฐม เชียงใหม่)

ยิ่งไปกว่านั้น ทางทีมวิจัยได้เสนอแนะนโยบาย 4 ด้าน ประกอบไปด้วย การปฏิรูประบบวิจัย ปรับปรุงสถาบันและกฎระเบียบ การปฏิรูปนโยบายระบบส่งเสริมการเกษตร แบบเสื้อโหลไปเป็นการสนับสนุนตามบทบาทและขีดความสามารถของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม รวมไปถึงนโยบายด้านความปลอดภัยของอาหาร การใช้ยาฆ่าแมลงและสารกำจัดวัชพืชอย่างเหมาะสม การศึกษายังเสนอแพลตฟอร์มนโยบายที่แตกต่างกัน 4 แพลตฟอร์ม (ที่เรียกว่า R & I & E collaboration platforms) ซึ่งช่วยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรสามารถทำงานร่วมกันได้ เช่น FACEBOOK หรือบนเว็บไซต์ TDRI เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอแนะนโยบายของโครงการนี้ แพลตฟอร์มการปรับปรุงพันธุ์ กระบวนการผลิตในฟาร์มและแพลตฟอร์มนโยบายการส่งเสริมการเกษตรแบบใหม่ นอกจากนี้ ยังนำเสนอนโยบายการรวมกลุ่มเกษตรกร โดยมีเป้าหมายที่ครอบคลุมไม่เพียงแต่เรื่องรายได้สุทธิของเกษตรกรที่สูงขึ้นจากการเพิ่มผลผลิตและการลดต้นทุน แต่ยังกล่าวถึงแง่มุมที่กว้างขึ้น ความเท่าเทียมในแง่ของการลดช่องว่างรายได้ระหว่างเกษตรกรและแรงงานนอกภาคเกษตร รวมถึงสุขภาพของประชากร ความยืดหยุ่น และความยั่งยืน