EN/TH
EN/TH
Policy Brief>ศ-การใช้เสียงและการรับรู้เสียงสุภาพในสถานการณ์ที่แตกต่างกันของคนไทยเจเนอเรชันเอ็กซ์ เจเนอเรชันวาย และเจเนอเรชันซี-ศุจิณัฐ จิตวิริยนนท์ และภาวดี สายสุวรรณ
ศ-การใช้เสียงและการรับรู้เสียงสุภาพในสถานการณ์ที่แตกต่างกันของคนไทยเจเนอเรชันเอ็กซ์ เจเนอเรชันวาย และเจเนอเรชันซี-ศุจิณัฐ จิตวิริยนนท์ และภาวดี สายสุวรรณ
ผู้วิจัย : ผศ.ดร.ศุจิณัฐ จิตวิริยนนท และ ผศ.ดร.ภาวดี สายสุวรรณ   โพสต์ เมื่อ 30 ตุลาคม 2023
จำนวนผู้เข้าชม 76 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 10 ครั้ง

ความสุภาพที่แสดงออกทางเสียงพูดซึ่งเป็นมิติทางวัฒนธรรมหนึ่งในการสื่อสารของมนุษย์ผ่านการแปรเปลี่ยนไปตามเจเนอเรชันที่แตกต่างกัน ในการศึกษานี้ คณะผู้วิจัยมุ่งศึกษาการผลิตเสียงและการรับรู้เสียงสุภาพของคนไทยใน 3 เจเนอเรชัน คือเจเนอเรชันเอ็กซ์ เจเนอเรชันวาย และเจเนอเรชันซี ค่าพารามิเตอร์ที่วิเคราะห์ประกอบด้วย (1) ค่าความถี่มูลฐานเฉลี่ยเพื่อแสดงระดับเสียงโดยรวม (2) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของค่าความถี่มูลฐานเพื่อแสดงความผันผวนของระดับเสียง (3) ค่าความเข้มเฉลี่ยเพื่อแสดงความดังโดยรวม และ (4) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของค่าความเข้มเพื่อแสดงความผันผวนของความดัง คณะผู้วิจัยสันนิษฐานว่า คนไทยต่างเจเนอเรชันจะมีพฤติกรรมการผลิตเสียงและการรับรู้เสียงสุภาพที่แตกต่างกัน

การทดลองการผลิตเสียง เก็บข้อมูลจากผู้ร่วมการวิจัย 60 คน (เพศชายและเพศหญิงจำนวนเท่ากันในแต่ละเจเนอเรอชันจำนวน 20 คน) ด้วยวิธีการอ่านบทสนทนาที่กำหนดให้แบ่งตามสถานะคือ สูงกว่า เท่ากัน และต่ำกว่าผู้พูด ประโยคที่ทดลองมี 3 วัจนกรรมคือ คำถาม ขอร้อง และเชิญชวน การวิเคราะห์ใช้การวัดค่าทางกลสัทศาสตร์ของ 4 พารามิเตอร์ข้างต้น

การทดลองการผลิตเสียงวิเคราะห์ค่าทางสถิติด้วย multiple linear regression โดยพบว่า สถานะของผู้ร่วมสนทนาไมส่งผลต่อการใช้เสียงที่แตกต่างกันในแต่ละเจเนอเรชัน อย่างไรก็ตาม พบความแตกต่างระหว่างเจเนอเรชัน ผู้พูดเจเนอเรชันซี และเจเนอเรชันวายใช้ระดับเสียงโดยรวมที่สูงกว่าผู้พูดเจเนอเรชันเอ็กซ์ นอกจากนี้ ผู้พูดเจเนอเรชันซียังใช้เสียงที่มีความผันผวนน้อยกว่าผู้พูดเจเนอเรชันเอ็กซ์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่พบความแตกต่างของความผันผวนของระดับเสีย และความดังโดยรวมระหว่างเจเนอเรชันที่ต่างกัน 

การทดลองการรับรู้ เก็บข้อมูล 60 คน เพศชายและหญิงในจำนวนเท่ากันและรวมเป็น 20 คนในแต่ละเจเนอเรชัน ผู้ร่วมการวิจัยประเมินความสุภาพที่รับรู้จากการได้ยินเสียงซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ชุดที่ทดสอบ 4 พารามิเตอร์ที่แปรเป็น 3 ระดับคือสูง กลาง ต่ำ การประเมินใช้สเกลแบบลิเคิร์ต 7 ระดับ เพื่อแสดงการรับรู้ความสุภาพของผู้ร่วมการวิจัย 

ผลการทดลองการรับรู้วิเคราะห์ทางสถิติด้วย Logistic Mixed-Effect Models พบว่า ระดับเสียงโดยรวมไม่ส่งผลต่อการรับรู้ความสุภาพของเสียง ความผันผวนของระดับเสียงมีความแตกต่างระหว่างเจเนอเรชัน เจเนอเรชันซีมีความอ่อนไหวกับความผันผวนของระดับเสียง โดยเฉพาะเมื่อพูดกับผู้พูดที่มีสถานะสูงกว่า หากใช้ความผันผวนของระดับเสียงสูงจะได้รับการประเมินระดับความสุภาพสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ ถ้อยคำที่พูดด้วยความดังและความผันผวนของความดังในระดับต่ำได้รับการประเมินว่าสุภาพมากที่สุด