EN/TH
EN/TH
กลุ่ม Big data และดัชนีสังคมไทย>จ- คนไทย 3.0 สู้เฟคนิวส์และรับมือภาวะฟุ้งกระจายของข่าวสารในช่วงวิกฤติไวรัส COVID-19 ระยะที่ 1-จิราวิทย์ ญาณจินดา และคณะ
จ- คนไทย 3.0 สู้เฟคนิวส์และรับมือภาวะฟุ้งกระจายของข่าวสารในช่วงวิกฤติไวรัส COVID-19 ระยะที่ 1-จิราวิทย์ ญาณจินดา และคณะ
ผู้วิจัย : ผศ.ดร.จิราวิทย์ ญาณจินดา และคณะ   โพสต์ เมื่อ 13 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 262 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 6 ครั้ง

ข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์ (Fake News) กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่เกิดขึ้นจากเจตนาของผู้สร้างข่าวเพื่อทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิด ซึ่งมีผลกระทบร้ายแรงต่อทัศนคติ และความคิดที่ส่งไปถึงการกระทำของคนในสังคมได้ การวิจัย เรื่อง คนไทย 3.0 สู้เฟคนิวส์และรับมือภาวะฟุ้งกระจายของข่าวสารในช่วงวิกฤติไวรัส COVID-19 ในครั้งนี้จึงมุ่งศึกษาและวิเคราะห์ปัจจัยและองค์ประกอบของการตัดสินใจเชื่อข่าวสารของคนไทยที่เกิดขึ้นในระหว่างช่วงเวลาของวิกฤต COVID-19 เพื่อศึกษาพฤติกรรม ปัจจัย และองค์ประกอบของการตัดสินใจเชื่อข่าวสารของคนไทย 3.0 และเพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์รูปแบบพฤติกรรมการตัดสินใจเชื่อ การส่งต่อ และการใช้ประโยชน์จากเฟคนิวส์ โดยในระยะที่หนึ่งนี้คาดว่าจะได้ องค์ความรู้ด้านความเข้าใจในกระบวนการเลือกรับและการเชื่อข่าวสารของคนไทย และองค์ความรู้ด้านวงจรและกระบวนการการกระจายข่าวลวง ขอบเขตของการวิจัยด้านเนื้อหา ประกอบด้วย ปัจจัยที่ส่งผลต่อการรับและเชื่อข่าวสาร เช่น ประเภทของแหล่งข่าว ผู้ส่ง ฯลฯ และประเด็นเนื้อหา เฟคนิวส์ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยทำการทดสอบการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม และสัมภาษณ์เชิงลึก และประชุมระดมสมอง ขอบเขตทางด้านประชากรคือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในชุมชนเมืองและชนบท ในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 103 คน

ผลการทดสอบพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเพศชาย ร้อยละ 28.2 และเป็นเพศหญิง ร้อยละ 71.8  ส่วนใหญ่ได้รับข่าวเกี่ยวกับ COVID-19 จากช่องทางโทรทัศน์ และสื่อสังคม Line Facebook บอกเล่าแบบปากต่อปาก เสียงตามสายในชุมชน วิทยุ และ Twitter ตามลำดับ เมื่อรับรู้ข่าวในช่วงวิกฤติไวรัส COVID-19 ส่วนใหญ่มักจะพินิจพิจารณาข่าวก่อนและโดยทั่วไปที่ไม่เชื่อในเนื้อข่าวนั้น และหากต้องการส่งต่อมักส่งต่อให้ครอบครัวและญาติพี่น้องเป็นส่วนใหญ่ เมื่อนำข่าวปลอมมาทดสอบพฤติกรรมของผู้ตอบแบบสอบถาม มีผู้เชื่อว่าเป็นข่าวจริง ร้อยละ 55.3 ไม่เชื่อในข่าว ร้อยละ 42.7 แต่เมื่อนำข่าวจริงมาทดสอบพฤติกรรมของผู้ตอบแบบสอบถาม ปรากฏว่ามีผู้ตอบที่เชื่อว่าเป็นข่าวจริง ร้อยละ 48.5 และมีผู้ที่ไม่เชื่อในข่าว ร้อยละ 51.5 ผู้ที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการรับข่าวสารในช่วงของวิกฤต COVID-19 คือร้อยละ 53.4 โดยใช้จ่ายเงินเพื่อหน้ากากอนามัย กักตุนอาหาร และเจลแอลกอฮอล์ ค่าทำประกันภัย COVID-19 ค่าตรวจ COVID-19 ตามลำดับ จากการรวบรวมข่าวผ่านช่องทางต่างๆ ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ ถึง ตุลาคม พ.ศ. 2563 ในประเทศไทยสามารถรวบรวมข่าวได้ทั้งหมด 109 ข่าว และจากการวิเคราะห์พบว่าเป็นข่าวปลอม 51 ข่าว เป็นข่าวจริง 58 ข่าว ผลของการวิเคราะห์ประเภทข่าวพบว่า ประเภทของข่าวที่พบมากที่สุดคือ Misleading หรือ ทำให้เข้าใจผิด ซึ่งข่าวปลอมประเภทนี้ได้มักใช้คำหรือประโยคชวนเชื่อที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกคล้อยตามไปกับเนื้อหาของข่าว และทำให้หลงเชื่อข่าวนั้น แม้ว่าข่าวจะไม่มีมูลความจริงอยู่ก็ตาม


[เพิ่มเติม] อ่านรายงานฉบับสมบูรณ์ เรื่อง คนไทย 3.0 สู้เฟคนิวส์และรับมือภาวะฟุ้งกระจายของข่าวสาร ในช่วงวิกฤติไวรัส COVID-19 ระยะ 2 ที่นี่